รัฐบาลไทยเรียกร้องให้กัมพูชาสอบสวนการละเมิดการห้ามใช้ทุ่นระเบิด

ข่าวต่างประเทศ Monday October 20, 2008 08:00 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2551 นายอนุสนธิ์ ชินวรรโณ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกได้พบกับนายอุก โสพอน อุปทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยที่กระทรวงการต่างประเทศและได้ยื่นบันทึกช่วยจำเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2551 ซึ่งทหารไทยสองนายได้เหยียบกับระเบิดและสูญเสียขาระหว่างการลาดตระเวนตามปรกติภายในอาณาเขตไทย สาระสำคัญของบันทึกช่วยจำสรุปได้ ดังนี้ 1. รัฐบาลไทยมองเหตุการณ์นี้ด้วยความตระหนกอย่างยิ่ง เพราะเป็นการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ปี ค.ศ. 1997 หรือที่เรียกกันว่า อนุสัญญาออตตาวาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล รวมทั้งยังเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพระหว่างประเทศ 2. รัฐบาลไทยขอเน้นย้ำอย่างหนักแน่นว่า การปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดโดยศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) และองค์กรเพื่อการพัฒนาอิสระอื่นๆ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2551 ในบริเวณใกล้ปราสาทพระวิหารนั้น เป็นการดำเนินการในอาณาเขตไทย ทุ่นระเบิดประเภทพีเอ็มเอ็น-2 ที่ถูกพบที่ภูมะเขือโดยศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ และองค์กรเพื่อการพัฒนาอิสระอื่น ๆ เป็นทุ่นระเบิดที่เพิ่งถูกฝังใหม่ 3. รัฐบาลไทยเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกัมพูชาสอบสวนว่า มีบุคคลภายใต้เขตอำนาจของประเทศกัมพูชาละเมิดกฎหมายว่าด้วยการห้ามใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลหรือไม่ รัฐบาลไทยขอชี้ให้เห็นว่า ในรายงานเพื่อแสดงความโปร่งใส ปี 2548 ที่กัมพูชายื่นต่อเลขาธิการสหประชาชาติตามข้อ 7 ของอนุสัญญาออตตาวา กัมพูชาได้รายงานว่า ในปี 2545 ทุ่นระเบิดประเภทพีเอ็มเอ็น-2 จำนวน 240 ทุ่นจากจำนวนทั้งหมด 3,405 ทุ่น ได้ถูกเคลื่อนย้ายจากกระทรวงมหาดไทยแห่งกัมพูชาไปยังศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดกัมพูชา (CMAC) เพื่อการพัฒนาและการฝึกอบรม รัฐบาลไทยขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกัมพูชาตรวจสอบว่าทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ชนิดพีเอ็มเอ็น-2 ที่เหลืออยู่นั้นอยู่ที่ใด เพื่อยืนยันคำแถลงของกัมพูชาว่ากัมพูชาไม่มีการสะสมทุ่นระเบิด 4. รัฐบาลไทยมีความห่วงกังวลอย่างมากต่อพัฒนาการดังกล่าว เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำที่ขัดต่ออนุสัญญาออตตาวาอย่างร้ายแรงโดยรัฐซึ่งเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาดังกล่าว ไทยเองผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลยังถูกนำมาใช้ในยุคปัจจุบัน และเป็นที่น่าท้อแท้ใจอย่างยิ่งที่รัฐภาคีของอนุสัญญาออตตาวาซึ่งเข้าใจถึงอานุภาพอันน่าสะพรึงกลัวของทุ่นระเบิดอย่างถ่องแท้ ยังสามารถกระทำการเยี่ยงนั้นได้ 5. ภายใต้บทบัญญัติข้อ 8 ของอนุสัญญาออตตาวา ประเทศไทยสามารถดำเนินมาตรการได้หลายประการ และไทยก็ขอสงวนสิทธิในการดำเนินมาตรการเหล่านั้น อย่างไรก็ดี เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ของอนุสัญญาดังกล่าวที่ทั้งกัมพูชาและไทยเป็นรัฐภาคี ไทยจึงพร้อมที่จะหารือและร่วมมือกับรัฐบาลกัมพูชาเพื่อแก้ไข ยุติข้อแตกต่างที่ยังคงมีอยู่ ไทยยังคงยึดมั่นที่จะแก้ไขปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านโดยสันติวิธีผ่านการหารือทวิภาคี ภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว สำหรับการเจรจาทวิภาคีนั้น อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกได้แจ้งต่ออุปทูตกัมพูชาว่า คณะรัฐมนตรีน่าจะสามารถแต่งตั้งประธานฝ่ายไทยคนใหม่สำหรับคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก (เจบีซี) ได้ในสัปดาห์หน้า และคาดว่า สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณากรอบการเจรจาว่าด้วยข้อตกลงชั่วคราวระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งจะปูทางไปสู่การเจรจาระหว่างทั้งสองประเทศต่อไปในการประชุมสภาฯ วันที่ 22 ตุลาคม ศกนี้

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ