ตามที่หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 27 ตุลาคม 2551 ได้ลงพิมพ์บทความโดย ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ เรื่อง “วิกฤตชายแดนไทย-กัมพูชา อย่าแยกออกจากปัญหามรดกโลก...พระวิหาร” นั้น กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อความเข้าใจของสาธารณชน ดังนี้
1. ในการดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศในทุกกรณี กระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความสำคัญในลำดับสูงสุดต่อการรักษาไว้ซึ่งเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย กรณีปราสาทพระวิหารก็เช่นกัน กระทรวงฯ ไม่ได้แยกเรื่องกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ออกจากเรื่องเขตแดนและกรณีพิพาทบริเวณชายแดน เพียงแต่ในทางกฎหมายการดำเนินการในแต่ละส่วนมีกรอบทางกฎหมายที่แยกจากกัน อาทิ กรอบ พหุภาคี กรอบการเจรจาเรื่องเขตแดนทวิภาคี และกรอบการเจรจาข้อตกลงชั่วคราวทวิภาคี ในบางขณะจึงต้องดำเนินการทางกฎหมายแยกกันในแต่ละกรอบ แต่ในทางการเมือง การทูต และนโยบายแล้ว กระทรวงการต่างประเทศจะมองภาพรวมและดำเนินการในลักษณะเป็นแนวไปในทางเดียวกัน
2. ในการดำเนินการทางการทูตและการเมืองนั้น กระทรวงการต่างประเทศมุ่งสร้างแนวร่วมสนับสนุนท่าทีไทยในทุกเวที ไม่ว่าจะเป็นในสหประชาชาติ UNESCO กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด กลุ่มประเทศผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส กลุ่มประเทศอาเซียน และภาคีอนุสัญญาออตตาวาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะแสดงให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นข้อเท็จจริงที่ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น มีต้นตอจากการที่กัมพูชานำปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงสิทธิอันชอบธรรมของไทย และเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามมาบริเวณปราสาทเขาพระวิหารที่แล้วมา ฝ่ายกัมพูชาก็เป็นผู้ริเริ่มโดยการข่มขู่และเป็นผู้เริ่ม ใช้กำลัง ทั้งยังมีการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ซึ่งขัดกับอนุสัญญากรุงออตตาวาที่ทั้งไทยและกัมพูชาเป็นรัฐภาคี นอกจากนี้ ฝ่ายกัมพูชายังได้นำกำลังทหารและอาวุธหนักเข้าไปตั้งในบริเวณปราสาทพระวิหารซึ่งเป็นอันตรายต่อตัวปราสาทอีกด้วย
3. ในขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศได้แสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะ เจรจากับกัมพูชาโดยผ่านกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา และการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้มีการเจรจาปักหลักเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาตลอดแนว และการแก้ไขความตึงเครียดตามชายแดน รวมทั้งบริเวณปราสาทพระวิหาร ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์อันชอบธรรมของทั้งสองประเทศ โดยเน้นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มิได้เป็นอุปสรรคต่อการเจรจาดังที่กัมพูชาพยายามอ้าง ซึ่งการที่รัฐสภาได้เห็นชอบกรอบการเจรจาข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชาเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร และกรอบการเจรจาสำหรับสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชาตลอดแนวในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาและกลไกอื่น ๆ ภายใต้กรอบนี้ ให้รัฐสภาเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 ก็เป็นเครื่องพิสูจน์
4. สำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ เจบีซี และการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย-กัมพูชา ในระหว่างวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2551 ที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชานั้น กระทรวงการต่างประเทศและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการอย่างรัดกุมที่สุดในการรักษาไว้ซึ่งเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย
5. กระทรวงการต่างประเทศก็จะสนับสนุนการดำเนินการของคณะกรรมการมรดกโลกไทยอย่างเต็มที่ เพื่อมิให้การจัดทำเขตกันชนและเขตพัฒนาของปราสาทพระวิหารโดยกัมพูชา ล้ำดินแดนไทยโดยเด็ดขาด
6. อนึ่ง สำหรับเรื่อง Management Plan และแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารและอาณาบริเวณโดยรอบที่ ม.ล. วัลย์วิภาฯ กล่าวถึงในบทความที่อ้างถึงนั้น ขอเรียนว่าเป็นโครงการที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ ในกรณีที่ฝ่ายไทยอาจเสนอขึ้นทะเบียนโบราณสถานและพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารซึ่งอยู่ในดินแดนไทยเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว ได้แก่
- โครงการจัดทำรายงานข้อโต้แย้งทางวิชาการในรายงานการประเมินของ ICOMOS สากล กรณีกัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
- โครงการศึกษาข้อมูลเชิงวิชาการและคุณค่าของโบราณสถาน บริเวณผามออีแดงและอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารเพื่อจัดทำคำขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และ
- โครงการจัดทำแผนบริหารจัดการอาณาบริเวณต่อเนื่องจากปราสาทพระวิหาร กรณีปราสาทพระวิหารได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
โครงการเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับการยื่นจดทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชา หรือข้อตัดสินใจของ UNESCO เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 ทั้งนี้ โครงการทั้งหมดได้มีการว่าจ้างให้ดำเนินการก่อนการตัดสินใจของ UNESCO ดังกล่าว โดยสองโครงการแรก ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2551
ขอเรียนว่า การดำเนินงานด้านการต่างประเทศในหลายกรณี เป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน การนำเสนอเรื่องราวในด้านนี้ด้วยวิธีการตั้งข้อสมมุติฐานหรือข้อสังเกตไปในทางเคลือบแคลงสงสัย จึงเป็นวิธีการที่นำมาใช้เพื่อเรียกความสนใจจากผู้อ่านได้ กระทรวงการต่างประเทศจึงใคร่ขอให้มีการตรึกตรอง และติดตามข้อมูลที่เป็นทางการ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณา โดยในเรื่องการเจรจา สำรวจ และจัดทำหลักเขตแดน ระหว่างไทยกับกัมพูชาได้ ตามกรอบการเจรจาที่ได้รับจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องได้ทางเว็บไซต์ www.mfa.go.th รวมทั้งการสัมมนาที่จะจัดขึ้นเป็นระยะ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการให้ข้อมูลและการรับฟังความเห็นจากประชาชน ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--