นายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำราชรัฐลักเซมเบิร์ก และเอกอัครราชทูตผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป (ถิ่นพำนัก ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยี่ยม) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 12-14 พฤศจิกายน 2551 ฯพณฯ นาย Jeannot Krecke รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการค้าต่างประเทศของลักเซมเบิร์ก จะนำคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงเศรษฐกิจและการค้าต่างประเทศ ผู้แทนหอการค้าลักเซมเบิร์ก และนักธุรกิจลักเซมเบิร์กมาเยือนประเทศไทย เพื่อสำรวจลู่ทางขยายและพัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างทั้งสองประเทศ การมาเยือนกรุงเทพฯ ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกำหนดการเยือนภูมิภาคเอเชีย (อินโดนีเซียและไทย) ของรัฐมนตรี Krecke ในช่วงวันที่ 9-14 พฤศจิกายน และเป็นผลจากการประสานงานระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ สถานเอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์กประจำประเทศไทย หอการค้าลักเซมเบิร์ก และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย (BOI)
แม้ว่าราชรัฐลักเซมเบิร์กเป็นประเทศที่เล็กที่สุดในสหภาพยุโรป (ประชากร 480,022 คน) แต่มีเสถียรภาพเศรษฐกิจสูง มีอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเฉลี่ยต่อหัว (GDP per capita) สูงที่สุดในสหภาพยุโรป คือ 80,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 53,328 ยูโร ต่อคนต่อปี ภาคบริการเป็นสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของลักเซมเบิร์ก โดยเฉพาะด้านการบริการทางการเงินและการธนาคาร โดยมีกฎหมายด้านการเงินที่ดึงดูดใจนักลงทุน ปัจจุบันลักเซมเบิร์กมีศูนย์ธุรกิจบริหารกองทุน (investment fund) ที่ใหญ่อันดับ 2 ของโลก (รองจากนิวยอร์ก) มูลค่า 2,900 ล้านยูโร อีกทั้งเป็นที่ตั้งของธนาคาร สถาบันการเงินและการลงทุนจำนวนมาก ลักเซมเบิร์กมีความสัมพันธ์ด้านการค้าและการเงินอย่างใกล้ชิดกับเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์
สำหรับกับประเทศไทยนั้น ความสัมพันธ์สองฝ่ายเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งในระดับพระราชวงศ์และรัฐบาล โดยรัฐบาลลักเซมเบิร์กเพิ่งมาเปิดสถานทูตในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อเป็นช่องทางติดต่อโดยตรงระหว่างกัน และเป็นการแสดงว่ารัฐบาลลักเซมเบิร์กเห็นว่าไทยเป็นศูนย์กลางและมีบทบาทนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากสถิติของ BOI ในปี พ.ศ. 2548 ลักเซมเบิร์กลงทุนในไทย 3 โครงการ มูลค่า 514 ล้านบาท (ประมาณ 10.28 ล้านยูโร) ในสาขาอุตสาหกรรมเหล็ก เหล็กกล้า และเครื่องจักร โรงแรม และเครื่องสำอาง อนึ่ง ภาคเอกชนลักเซมเบิร์กซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องการลงทุนเปิดกิจการใหม่ (start-up companies) และมีประสบการณ์ในการบริหารกองทุนเงินบำนาญ (pension fund) ก็ได้แสดงความสนใจที่จะมาลงทุนในบริษัทบริหารกองทุนของไทยด้วย
ทั้งนี้ ในการพบปะหารือระหว่างเอกอัครราชทูตพิศาลฯ กับ ฯพณฯ นาย Jean Asselborn รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศลักเซมเบิร์ก และนาย Paul Duhr ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ที่ลักเซมเบิร์กเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ฝ่ายลักเซมเบิร์กได้ยืนยันว่ามีเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือกับไทยในระยะยาว เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาทั้งในไทย และในประเทศที่สามต่อไป และเน้นว่า ลักเซมเบิร์กมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของไทย ขอให้ไทยแก้ไขปัญหาการเมืองของไทยโดยสันติวิธีและตามกระบวนการประชาธิปไตย นอกจากนั้น นาย Jean Claude Knebeler อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศลักเซมเบิร์กย้ำว่า ลักเซมเบิร์กเชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจและธุรกิจของไทย จึงได้ยืนยันกำหนดการมาเยือนไทยของรัฐมนตรี Krecke และกล่าวว่า นักธุรกิจที่ไม่รู้จักประเทศไทยดีพอ ก็อาจวิตกกังวลกับเสถียรภาพของไทยบ้าง แต่กระทรวงเศรษฐกิจและการค้าต่างประเทศรวมทั้งหอการค้าลักเซมเบิร์กได้พยายามให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับไทย เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างประเทศทั้งสองต่อไป
ระหว่างการเยือนไทยครั้งนี้ รัฐมนตรี Krecke จะได้พบหารือกับรัฐมนตรีจากกระทรวงด้านเศรษฐกิจต่างๆ ของไทย รวมทั้งจะพบหน่วยงานทางเศรษฐกิจและธุรกิจ ทั้งของภาครัฐและเอกชนของไทยด้วย นอกจากนั้น ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2551 จะมีการสัมมนาทางธุรกิจและงานรับรองที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายได้รับทราบข้อมูลของกันและกันและประสานงานกันต่อไป นักธุรกิจไทยที่สนใจจะเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว โปรดติดต่อสถานเอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์กประจำประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2677-7360 หรือติดต่อกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ โทรศัพท์ 02 643 5147 โทรสาร 02 643 5176
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--