นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางไปร่วมประชุม BIMSTEC Summit ในวันพฤหัสบดีที่ 13พฤศจิกายน 2551 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดยก่อนการประชุมผู้นำ จะมีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ในวันที่ 11 พฤศจิกายน และการประชุมระดับรัฐมนตรี ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 ซึ่งนายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
BIMSTEC เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการระหว่างประเทศในอ่าวเบงกอลที่เกิดขึ้นจาก ความริเริ่มของไทย ในปี 2540 ภายใต้ชื่อ BIST-EC ซึ่งเชื่อมประสานนโยบาย look east ของกลุ่มประเทศในเอเชียใต้และนโยบาย look west ของไทย ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทย
การดำเนินความร่วมมือในกรอบ BIMSTEC เป็นการเสริมสร้างพลวัตรและศักยภาพของประเทศสมาชิกซึ่งมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ใกล้ชิดกัน มีทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ที่มั่งคั่ง และมีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมที่ยาวนาน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการที่จะทำให้อนุภูมิภาคนี้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ปัจจุบัน BIMSTEC มีความร่วมมือ 13 สาขา ได้แก่ ประมง (ไทยเป็นประเทศนำ)สาธารณสุข(ไทยเป็นประเทศนำ) ปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชน (ไทยเป็นประเทศนำ) การค้าการลงทุน (บังกลาเทศเป็นประเทศนำ) การท่องเที่ยว (อินเดียเป็นประเทศนำ) การสื่อสารและคมนาคม (อินเดียเป็นประเทศนำ) พลังงาน (พม่าเป็นประเทศนำ) เทคโนโลยี (ศรีลังกาเป็นประเทศนำ) เกษตร (พม่าเป็นประเทศนำ) การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ (อินเดียเป็นประเทศนำ) วัฒนธรรม (ภูฏานเป็นประเทศนำ) การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ (อินเดียเป็นประเทศนำ) และการลดความยากจน (เนปาลเป็นประเทศนำ)
ทั้งนี้ สาระสำคัญของการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 2 มีวาระและหัวข้อการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
1) การยืนยันเจตนารมณ์ที่จะดำเนินความร่วมมือในกรอบ BIMSTEC เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาร่วมกัน
2) การทบทวนและติดตามความคืบหน้าและผลสำเร็จของการดำเนินความร่วมมือทั้ง 13 สาขา
3) เสนอแนะข้อคิดเห็นสำหรับการกระชับและขยายความร่วมมือในสาขาต่างๆ ในอนาคต
4) พิจารณาการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC ศูนย์อากาศและภูมิอากาศ BIMSTEC ที่อินเดีย และศูนย์ปฏิบัติการณ์ด้านวัฒนธรรม BIMSTEC ที่ภูฏาน รวมทั้งการจัดตั้งสำนักเลขาธิการถาวร BIMSTEC
ทั้งนี้ ประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ ได้แก่
1) ความร่วมมือสาขาคมนาคม ไทยสนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก เรือ และอากาศ เพื่อเชื่อมโยงประเทศในภูมิภาค ซึ่งไทยเห็นควรสนับสนุนการดำเนินความร่วมมือกับ ADB ซึ่งได้จัดการศึกษาเรื่องการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในกรอบ BIMSTEC (BIMSTEC Transport Infrastructure and Logistics Study - BTILS) แล้ว
2) ความร่วมมือสาขาการค้าการลงทุน ไทยสนับสนุนการจัดทำ BIMSTEC FTA และการจัดตั้ง BIMSTEC Business Council เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจของ ปท.สมาชิกฯ
3) สนับสนุนการกระชับและขยายความร่วมมือสาขาประมง สาธารณสุข และปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ซึ่งเป็นสาขาความร่วมมือที่ไทยเป็นประเทศนำ
4) ความร่วมมือสาขาการท่องเที่ยว ผลักดันดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ อาทิ ทางศาสนา และเชิงอนุรักษ์ โดยการสนับ สนุนจาก ADB
5) ความร่วมมือสาขาเกษตร สนับสนุนความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการฝึกอบรม รวมทั้งการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางอาหารและผลักดันให้มีความร่วมมือด้านการผลิตฮาลาล โดยให้เสริมสร้างศักยภาพด้านวิชาการและวิทยาศาสตร์ฮาลาล (เนื่องจากประเทศ BIMSTEC มีประชากรมุสลิมเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถเป็นทั้งตลาดและผู้ผลิตอาหารฮา ลาลของโลกได้)
6) สนับสนุนความร่วมมือด้านพลังงานและการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC ที่อินเดีย นอกจากนี้ ไทยจะจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ในปี 2552 โดยมุ่งควบคุม ดูแล และวางระเบียบตลาดพลังงาน
7) ความร่วมมือสาขาความยากจน มุ่งเน้นบริบทของความมั่นคงทางอาหาร
8) การจัดตั้ง BIMSTEC Secretariat ไทยสนับสนุนการจัดตั้งสำนักเลขาธิการถาวรของ BIMSTEC เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานและติดตามผลการดำเนินความร่วมมือของ BIMSTEC
9) ความร่วมมือด้าน Disaster Management สนับสนุนการจัดตั้ง ศูนย์อากาศและภูมิอากาศ BIMSTEC ที่อินเดีย ซึ่งจะปะระสานงานกับศูนย์เตือนภัยในประเทศไทย (ADCP-Asian Disaster Preparedness Center ) เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเตือนภัยและแลกเปลี่ยนข้อมูลในการจัดการด้านภัยพิบัติธรรมชาติภายในอนุภูมิภาค
10) ความร่วมมือในเรื่องการปราบปรามการก่อการร้าย การลักลอบค้ายาเสพติด และอาชญากรรมข้ามชาติ ไทยได้ร่วมในการเจรจาจัดทำอนุสัญญา BIMSTEC ว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และการค้ายาเสพติด ซึ่งขณะนี้ คณะทำงานด้านป้องกันปราบปรามการก่อการร้าย ซึ่งมีอินเดียเป็นประเทศนำได้เจรจาสำเร็จแล้ว ซึ่งไทยและประเทศสมาชิกจะดำเนินการเพื่อให้มีการลงนามและให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าว เพื่อให้สามารถใช้เป็นพื้นฐานในการดำเนินความร่วมมือในการป้องกันปราบปรามการก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปโดยเร็ว
สำหรับผลของการประชุมครั้งนี้ จะมีการรับรองปฏิญญาผู้นำ BIMSTEC ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงเจตนารมย์ทางการเมืองในการดำเนินความร่วมมือต่อไป
การเข้าประชุมนับเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้กระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศสมาชิก BIMSTEC โดยในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2551 นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะหารือกับ ดร.มานโมฮัน ซิงห์ (Dr. Manmohan Singh) นายก- รัฐมนตรีอินเดีย และจะหารือกับนายปุษปา กมล ดาหาล (Mr. Pushpa Kamal Dahal “Prachanda”) นายกรัฐมนตรีเนปาล รวมทั้งการพบกับผู้บริหารระดับสูงของภาคธุรกิจสำคัญของอินเดีย
นอกจากนี้สำหรับภาคเอกชน จะมีการจัดการประชุม BIMSTEC Business Summit เพื่อหารือกับ Confederation of Indian Industry (CII) และ The Associated Chambers of Commerce and Industry in India (ASSOCHAM)พร้อมด้วย The Federation of Indian Chambers of Commerce and Industry (FICCI) จะจัดการ ประชุม BIMSTEC Business Summit- Strenghtening the Economic Partnership ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 เพื่อจัดทำ agenda ในด้านความร่วมมือด้านพลังงาน (รวมทั้งพลังงานจากน้ำ) ธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (agri-business) ประมง คมนาคมและการเชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคมและการสื่อสารระหว่างกัน (connectivity) โดยจะเสนอผลสรุปและข้อเสนอแนะของที่ประชุม Business Summit ต่อรัฐบาลของประเทศสมาชิก
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--