นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Meeting : AELM) ที่กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ระหว่างวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2551
การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคเริ่มต้นด้วยการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (Concluding Senior Officials Meeting : CSOM) ระหว่างวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2551 และการประชุมรัฐมนตรี (APEC Ministerial Meeting : AMM) ระหว่างวันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2551 โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเข้าร่วมการประชุม AMM ในวันที่ 19 และ 20 พฤศจิกายน 2551 ร่วมกับนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
ประเด็นซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญ คือ ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก ปัญหาความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ความมั่นคงของมนุษย์ นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะมีกำหนดหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชิลีและออสเตรเลียในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551
สำหรับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคประจำปี 2008 ที่กรุงลิมา จะมีนายอลัน การ์เซีย ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรู เป็นประธานการประชุม และจะมีผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคเข้าร่วม
กำหนดการสำคัญของนายกรัฐมนตรีในการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ได้แก่ (1) การหารืออย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) (2) การหารือทวิภาคีกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (3) การประชุมระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (4) การหารือทวิภาคีกับคณะนักธุรกิจสหรัฐจาก US-APEC Business Coalition (USABC)
หัวข้อ (Theme) ของการประชุมเอเปคสำหรับปี 2551 คือ “ A New Commitment to the Development of the Asia-Pacific” โดยประเด็นสำคัญที่จะหารือในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลกและการแก้ไขปัญหาวิกฤตการเงินโลก (Global Financial Crisis) การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของเอเปค (Regional Economic Integration) การส่งเสริมการเจรจาการค้ารอบโดฮา (Support of Doha Development Agenda) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (ECOTECH) สาขาต่างๆ การติดตามความคืบหน้าของปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (Structural Reform) ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน (Food and Energy Security) การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของบรรษัท (Corporate Social Responsibility : CSR) ฯลฯ ทั้งนี้ ผลการประชุมเอเปคครั้งนี้จะออกเป็นแถลงการณ์ 2 ฉบับ ในระดับรัฐมนตรีและระดับผู้นำ รวมทั้ง อาจมีแถลงการณ์แยกเรื่องสภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลก
ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการป้องกันแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและวิกฤตการเงินโลก โดยจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของไทยและอาเซียนในการแก้ไขและป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจ อาทิ การใช้ความคิดริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative) ในการป้องกันวิกฤตการเงิน การผลักดันการเจรจาการค้าพหุภาคี รวมทั้งให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และความรับผิดชอบต่อสังคมของบรรษัท
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุนและความเจริญทางเศรษฐกิจ ของสมาชิกเอเปค ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนฯ แคนาดา ชิลี จีน เขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกีนี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม นอกจากการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุนโดยความสมัครใจแล้ว เอเปคยังดำเนินความร่วมมือวิชาการหลายสาขา เช่น การเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน พลังงาน การท่องเที่ยว การขนส่ง โทรคมนาคม การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและอาชญากรรมข้ามชาติ การศึกษา สาธารณสุข เป็นต้น ทั้งนี้ โดยมีการประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนผ่านสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council — ABAC) อย่างใกล้ชิด
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--