ตามที่นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ กรรมการผู้จัดการบริษัทศิริชัยการประมง เจ้าของเรือเอกวัฒน์นาวา 5 ซึ่งถูกโจรสลัดโซมาเลียยึดเพื่อเรียกค่าไถ่ พร้อมลูกเรือ 16 คน เมื่อวันอังคารที่ 18 พ.ย. 51 ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าของเรื่องดังกล่าว เมื่อ 25 พ.ย. 51 ว่าเรือเอกวัฒน์นาวา 5 น่าจะเป็นเรือที่ถูกเรือ INS Tabar ซึ่งเป็นเรือฟริเกต (frigate) ของกองทัพเรืออินเดียยิงจม เนื่องจากเข้าใจว่า เรือเอกวัฒน์นาวา 5 เป็นเรือโจรสลัดโซมาเลีย โดยสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง อาทิ CNN BBC และ Washington Post รายงานว่า พบลูกเรือรอดชีวิต 1 คน เสียชีวิต 1 คน ในขณะที่ลูกเรืออีก 14 คนยังคงหายสาบสูญ นั้น
เมื่อ 25 พ.ย. 51 กระทรวงฯ ได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กองทัพเรือไทย และบริษัทเจ้าของเรือ และได้ดำเนินการ ดังนี้
การสืบหาข้อเท็จจริง
กระทรวงฯ ได้ดำเนินการสืบหาข้อเท็จจริงจากรัฐบาลอินเดีย โดยกระทรวงฯ ได้เชิญเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย เข้าพบในวันนี้ (26 พ.ย. 51) เพื่อยื่นเอกสารขอทราบข้อมูลเพิ่มเติม และดำเนินการผ่านสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี รวมทั้งอาศัยช่องทางผู้ช่วยทูตทหารเรือของทั้งสองฝ่าย เพื่อสอบถามข้อมูลใน 3 ประเด็น คือ
- ตรวจสอบพิกัดของเรือรบอินเดียในขณะที่ยิง รวมทั้งพิกัดของเรือที่ฝ่ายอินเดียยิง ว่า ตรงกับข้อมูลของบริษัทเจ้าของเรือหรือไม่
- การปฏิบัติตาม Rules of Engagement ของทหารเรืออินเดีย อาทิ การแสดงธง การใช้วิทยุ การยิงเตือน และการเข้าช่วยเหลือลูกเรือที่ถูกยิงจม ฯลฯ
- ฝ่ายอินเดียได้ปฎิบัติตาม Rules of Engagement ในการตรวจสอบหลังจากจมเรือดังกล่าว ว่ายังคงมีลูกเรือรอดชีวิต และได้เข้าช่วยเหลือหรือไม่
นอกจากนี้ เมื่อ 24 พ.ย. 51 กระทรวงฯ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงข้างต้นกับกองกำลังพันธมิตร (Coalition Force) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนในบริเวณน่านน้ำประเทศเยเมน และ International Maritime Bureau (IMB) อีกทางหนึ่งด้วย
ชีวิตลูกเรือไทย
กระทรวงฯ จะประสานกับฝ่ายต่างๆ เพื่อเร่งติดตามชะตากรรมของลูกเรือไทยอย่างเต็มที่ว่ายังคงมีชีวิตอยู่หรือไม่ และ/หรือ หากเสียชีวิตแล้ว จะสามารถค้นหาศพและนำกลับประเทศไทยได้อย่างไร รวมทั้งแจ้งเรื่องให้ญาติลูกเรือไทยทั้งหมดทราบความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด
การดำเนินการทางกฎหมาย
เนื่องจากเรือเอกวัฒน์นาวา 5 จดทะเบียนสัญชาติที่ประเทศคีรีบาส (Kiribati) การดำเนินการตามข้อกฎหมายที่สามารถกระทำได้ คือ บริษัทเจ้าของเรือ (ในฐานะเอกชนไทย) สามารถฟ้องร้อง เอาผิดกับทางการอินเดีย (หากฝ่ายอินเดียมีความผิด) ซึ่งกระทรวงฯ ก็สามารถอำนวยความสะดวกในด้านการประสานงาน/ติดต่ออำนวยความสะดวกให้แก่เอกชนไทย
การแก้ไขปัญหาระยะยาว
กระทรวงฯ ได้เตือนแล้วในหลายโอกาสและขอแจ้งเตือนอีกครั้งว่า น่านน้ำดังกล่าวเป็นน่านน้ำที่มีอันตรายสูงมาก โดยในปีที่ผ่านมา ได้มีเรือถูกโจมตีในน่านน้ำดังกล่าวแล้วกว่า 90 ครั้ง จึงขอเตือนผู้ประกอบการฯ ว่า ไม่ควรให้เรือไทยหรือเรือที่มีลูกเรือเป็นคนไทยเดินทางเข้าหรือผ่านไปยังน่านน้ำดังกล่าว นอกจากนี้ UN Political Office for Somalia (UNPOS) จะจัดประชุมระดับรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาปัญหาโจรสลัดดังกล่าว ที่ประเทศไนโรบี ระหว่างวันที่ 10 — 11 ธ.ค. 51 ซึ่งฝ่ายไทยก็จะมีผู้เข้าร่วมประชุมจากกระทรวงฯ และกองทัพเรือ โดยจะหยิบยกประเด็นปัญหาเรื่องโจรสลัดและแนวทางในการแก้ไขขึ้นในที่ประชุม เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--