ตามที่นายวีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้เชิญนายอุก โสพอน อุปทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยมาที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2551 เพื่อมอบหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศตอบหนังสือของฝ่ายกัมพูชา เพื่อยืนยันว่าปราสาทตาควายตั้งอยู่ในดินแดนไทย และการวางกำลังทหารไทยจำนวนประมาณ 10 นายที่ปราสาทตาควายเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2551 เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยภายในดินแดนไทย นั้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 และ 13 ตุลาคม 2551 ฝ่ายกัมพูชาได้มีหนังสือตอบหนังสือของไทย 2 ฉบับ พยายามโต้แย้งว่าปราสาทตาควายตั้งอยู่ในดินแดนกัมพูชา โดยอ้างแผนที่ชุด L7016 และ L7017
ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 กระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือตอบไปยังสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา ยืนยันว่าเมื่อถ่ายทอดค่าพิกัดของปราสาทตาควายลงบนแผนที่ชุด L 7017 และ L 7016 แล้ว ปราสาทตาควายตั้งอยู่ในดินแดนไทย และชี้แจงว่าไทยไม่เคยรับและไม่รับแผนที่ชุด L 7016 ว่าเป็นแผนที่ที่กำหนดเขตแดน และแผนที่ชุด L 7016 เป็นเพียงหนึ่งในแผนที่หลายชุดที่ชุดสำรวจร่วมใช้อำนวยความสะดวกงานสนาม โดยไม่คำนึงถึงเส้นเขตแดนที่แสดง ดังบันทึกหลักฐานต่อไปนี้
1. ในบันทึกการประชุมคณะเจ้าหน้าที่เทคนิคไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 1 เมื่อ 29-30 กันยายน 2546 ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันว่าจะใช้แผนที่ชุด L708, L7011 และ L 7016 เพื่ออำนวยความสะดวกในการช่วยชี้ตำแหน่งที่ตั้งของหลักเขตแดน (ทั้ง 73 หลัก) ในพื้นที่ (to facilitate the determination of the locations of BPs in the terrain) เท่านั้น ไม่ใช่เป็นแผนที่ที่กำหนดเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา
2. ในการประชุมคณะเจ้าหน้าที่เทคนิคไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 3 เมื่อ 30 มิถุนายน — 2 กรกฎาคม 2547 ทั้งสองฝ่ายได้รับเอาข้อแนะนำทางเทคนิคสำหรับงานตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงสภาพและที่ตั้งของหลักเขตแดนทั้ง 73 หลักมาใช้ ซึ่งได้ระบุว่าให้ตรวจสอบและเปรียบเทียบแผนที่แสดงภูมิประเทศชุด L 708, L 7011 และ L 7016 โดยคำนึงถึง ชื่อทางภูมิศาสตร์ ถนน ทางระบายน้ำ ระดับความสูง ภูเขา และรายละเอียดภูมิศาสตร์อื่นๆ “ยกเว้นเส้นเขตแดน” (The topographic maps series L708, L7011 and L7016 of each side shall be investigated and compared, sheet by sheet, taking into account the geographic names, roads, drainages, elevation, mountains and other geographical details except boundary line.)
กระทรวงการต่างประเทศขอยืนยันว่าประเทศไทยยังคงยึดมั่นในเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือกับกัมพูชาภายใต้กลไกคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนทุดจุดอย่างเป็นธรรมและโดยสันติวิธีตามกฎหมายระหว่างประเทศต่อไป
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--