ประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ครั้งที่ 9

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 3, 2008 10:42 —กระทรวงการต่างประเทศ

นายนรชิต สิงหเสนี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศและคณะ ประกอบด้วยนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฯ ณ นครเจนีวา นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายวีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย นายจักริน ฉายะพงศ์ รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ และผู้แทนจาก องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) อาทิ มูลนิธิลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อการพัฒนา และองค์การแฮนดิแคป อินเตอร์เนชั่นแนล (โครงการประเทศไทย) ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ครั้งที่ 9 (9th Meeting of State Parties to the Convention of Prohibition of the Use, Stockpiling, Production and Transfer of Anti-Personnel Mines and on their Destruction — 9MSP) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 — 28 พฤศจิกายน 2551 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้กล่าวถ้อยแถลงในระเบียบวาระ General Exchange of Views โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับคำขอขยายระยะเวลาการเก็บกู้ทุ่นระเบิด ซึ่งไทยมีพันธกรณีตามอนุสัญญาฯ ที่จะต้องเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดทั้งหมดภายใน 10 ปี หลังจากอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ต่อไทย (คือภายใน 1 พฤษภาคม 2552) แต่ไทยไม่สามารถดำเนินการได้ทันเนื่องจากอุปสรรคต่างๆ เช่น พื้นที่ที่ยากลำบากต่อการเข้าถึงและเก็บกู้ ข้อจำกัดด้านกำลังคนและงบประมาณ ไทยจึงขอขยายระยะเวลาออกไปอีก 9 ปีครึ่ง (1 พฤษภาคม 2552 — 1 พฤศจิกายน 2561) นอกจากนี้ ได้กล่าวเน้นถึงบทบาทของไทยในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดและเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยที่ยึดมั่นและปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ

นอกจากนี้ ไทยได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ทหารพรานไทย 2 นาย เหยียบทุ่นระเบิดที่วางใหม่ ในดินแดนไทยเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2551 ด้วย ซึ่งไทยได้ขอคำชี้แจงจากกัมพูชาโดยยื่นบันทึกช่วยจำเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2551 แต่กัมพูชากลับเลือกที่จะเวียนหนังสือต่อรัฐภาคีทุกประเทศแทนที่จะตอบไทยโดยตรง จนกระทั่งวันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2551 กัมพูชาจึงมีหนังสือตอบไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็ มิได้ตอบข้อสงสัยของไทยแต่อย่างใด แต่กลับพยายามเบี่ยงเบน ด้วยการยกประเด็นเรื่องเขตแดนที่อยู่นอกเหนือจากการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาฯ ทั้งๆ ที่มีการดำเนินงานภายใต้กลไกในระดับทวิภาคีอยู่แล้ว ดังนั้น ไทยจึงจำต้องหยิบยกเรื่องนี้ในที่ประชุมเพื่อแจ้งรัฐสมาชิกทราบ โดยหวังว่าเหตุการณ์ละเมิดอนุสัญญาฯ เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก ทั้งนี้ แม้ว่าไทยจะตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นเรื่องเขตแดน แต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเวทีการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดฯ มิใช่คำถามว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหน (where) แต่เป็นคำถามว่า การวางระเบิดใหม่ซึ่งเป็นการละเมิดอนุสัญญาฯ เกิดขึ้นได้อย่างไรและเพราะอะไร (how and why) อย่างไรก็ตาม ไทยยินดีที่กัมพูชาได้เริ่มการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2551 ทั้งนี้ ไทยเห็นว่าการสอบสวนต้องให้ความสำคัญกับประเด็นการวางทุ่นระเบิดใหม่ และต้องดำเนินไปด้วยความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย โดยมีคนกลางรวมทั้งผู้เชี่ยวชาญที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมอยู่ด้วย

ประเทศไทยยืนยันว่าจะให้ความสำคัญของความสัมพันธ์ฉันเพื่อนบ้านกับกัมพูชาต่อไป และจะร่วมมือกับรัฐภาคีในการปรึกษาหารือร่วมกัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอนุสัญญาฯ ด้วย ต่อมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 พล.ท. ธำรงศักดิ์ ดีมงคล ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ได้แถลงรายละเอียดคำขอขยายเวลาการเก็บกู้กับระเบิดของไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซียและจอร์แดน ทั้งนี้ ที่ประชุมรัฐภาคีฯ จะพิจารณาคำขอขยายเวลาของรัฐภาคีทั้ง 15 ประเทศ รวมทั้งไทย ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 นอกจากนี้ ในช่วงเที่ยงของวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 ไทยได้จัดการหารืออย่างไม่เป็นทางการในระหว่างอาหารกลางวัน โดย รศ.นพ. เทอดชัย ชีวะเกตุ เลขาธิการมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งได้รับรางวัลแมกไซไซ ปี 2551 สาขาบริการสาธารณะ ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้แทนมูลนิธิลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อการพัฒนา และองค์การแฮนดิแคป อินเตอร์เนชั่นแนล (โครงการประเทศไทย) ในเรื่องการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุ่นระเบิด ซึ่งเป็นการเผยแพร่บทบาทของไทยในด้านมนุษยธรรมและการดำเนินการตามอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดด้วย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ