รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเห็นชอบกำหนดการใหม่ของการประชุมสุดยอดอาเซียนในวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ ศกหน้า

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 17, 2008 08:46 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 ดร.มั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสื่อสารและสารสนเทศ ในฐานะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลไทย เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน สมัยพิเศษ ณ สำนักเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐสมาชิกอาเซียนหารือกันเพิ่มเติมเกี่ยวกับ (1) กำหนดการใหม่ของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 หลังจากที่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2551 รัฐสมาชิกได้เห็นชอบในเบื้องต้นให้จัดการประชุมสุดยอดฯ ที่ประเทศไทย ภายในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และ (2) การหารือร่วมกันในเบื้องต้นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อบทต่างๆ ของกฎบัตรอาเซียน

ในเรื่องกำหนดการใหม่ของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 รวมถึงการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้จัดการประชุมฯ ในวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2552

ในประเด็นการปฏิบัติตามข้อบทต่างๆ ของกฎบัตรอาเซียน ที่ประชุมฯ หารือกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับรายละเอียดและแง่มุมทางเทคนิกของการทำให้องค์กรและกลไกต่างๆ ของอาเซียนที่จะได้รับการจัดตั้งใหม่หรือถูกเสริมสร้างอันเป็นผลจากการบังคับใช้ของกฎบัตรอาเซียน สามารถดำเนินงานได้อย่างสมบูรณ์ และมีมติดังต่อไปนี้

1. ในเรื่องการดำเนินงานของคณะมนตรีประชาคมอาเซียน ที่ประชุมฯ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนไปหารือกันในรายละเอียดเกี่ยวกับผู้แทนของแต่ละรัฐสมาชิกที่จะเป็นตัวแทนของประเทศตนเองในคณะมนตรีประชาคมอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

2. ในเรื่องการปรับโครงสร้างของสำนักเลขาธิการอาเซียนให้เป็นไปตามข้อบทต่างๆ ของกฎบัตรอาเซียน ที่ประชุมฯ เห็นชอบ (1) ให้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ว่าด้วยเศรษฐกิจมหาภาคและการสอดส่องและเตือนภัยทางเศรษฐกิจ (a macro-economic and surveillance) ภายในสำนักเลขาธิการอาเซียน ทั้งนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านข้อมูลแก่รัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัฐสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของภูมิภาค (2) ให้อำนาจเลขาธิการอาเซียนในการแต่งตั้งรองเลขาธิการอาเซียนที่มาจากการรับสมัครและคัดเลือกในระบบเปิด เพิ่มเติมอีกสองตำแหน่ง โดยให้คนหนึ่งรับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจ และอีกคนหนึ่งรับผิดชอบงานด้านการบริหารภายในของสำนักเลขาธิการอาเซียน และ (3) ให้ปรับปรุงวิธีการกำหนดงบประมาณของสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อให้สำนักเลขาธิการมีงบประมาณในการดำเนินงานได้อย่างเป็นสัดส่วนต่อการมีปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากการบังคับใช้ของกฎบัตรอาเซียน

3. ในเรื่องการจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ที่ประชุมฯ รับทราบถึงผลการประชุมของคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนซึ่งมีหน้าที่ในการจัดทำร่างเอกสารขอบเขตการดำเนินงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน โดยในชั้นนี้ ถือได้ว่า คณะทำงานฯ ได้เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการดำเนินงานแล้ว หลังจากที่ร่างแรกของเอกสารขอบเขตการดำเนินงานฯ ใกล้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ คณะทำงานฯ จะนำเสนอร่างแรกของเอกสารขอบเขตการดำเนินงานฯ ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งต่อไป

โดยที่กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้แล้ว การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในวันนี้ จึงถือเป็นการประชุมครั้งแรกของคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ทั้งนี้ กฎบัตรอาเซียน ได้กำหนดให้มีการประชุมของคณะมนตรีประสานงานอาเซียน อย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี โดยอำนาจและหน้าที่หลักๆ ของคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ได้แก่ การประสานงานการดำเนินการตามความตกลงและข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน และการประสานงานกับคณะมนตรีประชาคมอาเซียนต่างๆ เพื่อเพิ่มความสอดคล้องกันของนโยบาย ประสิทธิภาพ และความร่วมมือระหว่างกัน

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ