เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2552 นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ และศาสตราจารย์คลินิก น.พ.สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ร่วมแถลงข่าวพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2551 ว่า ตั้งแต่ปี 2535 คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้คัดเลือกบุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ เพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในสองสาขา ได้แก่ สาขาการแพทย์ 1 รางวัล และการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา โดยรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล รางวัลละ 50, 000 เหรียญสหรัฐ
ในปี 2551 คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ได้พิจารณาผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2551 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2551 จำนวน 49 ราย จาก 19 ประเทศ และได้มีมติตัดสินมอบรางวัลสาขาการแพทย์ให้ศาสตราจารย์ ดร.นพ.แซจิโอ เอ็นริเค เฟเรย์ร่า (Professor Dr.Sergio Henrique Ferreira) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ภาควิชาเภสัชวิทยา มหาวิทยาลัยเซาว์เปาโล สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล จากผลงานการค้นพบโปรตีนเปปไทด์จากพิษงูชนิดหนึ่งของประเทศบราซิล นำไปสู่การศึกษาพัฒนายาในกลุ่ม ACEI ซึ่งตัวแรกคือ Captopril และผลงานวิจัยที่นำไปสู่การค้นพบยาในกลุ่ม COX-2 inhibitors การค้นพบยาทั้งสองกลุ่มช่วยชีวิตผู้ป่วยหลายร้อยล้านคนทั่วโลก
สำหรับสาขาการสาธารณสุข มีผู้ได้รับรางวัล 2 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.มิชิอากิ ทาคาฮาชิ (Professor Dr. Michiaki Takahashi) กรรมการมูลนิธิวิจัยโรคจากเชื้อจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยโอซากา ประเทศญี่ปุ่น จากผลงานการคิดค้นวาริเซลล่าวัคซีน (Varicella vaccine) นำไปสู่การใช้วัคซีนป้องกันไข้สุกใสอย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กๆ นับร้อยล้านทั่วโลก และศาสตราจารย์ ดร.นพ.หยู หย่งซิน (Professor Dr. Yu Yongxin) ผู้อำนวยการเกียรติคุณ แผนกวัคซีนไวรัส สถาบันควบคุมชีวเภสัชภัณฑ์แห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ซึ่งใช้เวลากว่าสามทศวรรษในการค้นคว้าและพัฒนาวัคซีนไข้สมองอักเสบ (Japanese Encephalitis vaccine) สายพันธุ์ SA 14-14-2 มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และมีความปลอดภัยสูงในการป้องกันโรคไข้สมองอักเสบในเด็กได้ ทำให้การแพร่ระบาดของโรคไข้สมองอักเสบ เจอี ที่แพร่ระบาดในทวีปเอเชียลดลงได้มาก
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2551 ในวันพุธที่ 28 มกราคม 2552 เวลา 17.30 น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ในการพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัล พร้อมคู่สมรสในวันเดียวกัน ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยโมฬาร เวลา 20.00 น.
อนึ่ง สำหรับผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ เคยได้รับรางวัลโนเบลแล้ว 2 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.แบรี่ มาร์แชล (Professor Dr. Barry Marshall) จากประเทศออสเตรเลีย และศาสตราจารย์ ดร.นพ.ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น (Professor Dr. Harald zur Hausen) จากประเทศเยอรมนี โดยศาสตราจารย์ ดร.นพ.มาร์แชล ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2544 ในสาขาสาธารณสุข และได้รับรางวัลโนเบล ปี 2548 ในสาขาการแพทย์ (Medicine) จากการค้นพบว่าเชื้อแบคทีเรียชนิดใหม่ชื่อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอรัย (Helicobactor pylori) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของกระเพาะอาหารอักเสบและแผลในกระเพาะอาหาร เป็นผลทำให้เกิดความเข้าใจและมีการเปลี่ยนหลักการรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบและแผลในกระเพาะอาหารในผู้ป่วยที่มีเชื้อแบคทีเรียนี้ สำหรับศาสตราจารย์ ดร.นพ.ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2548 สาขาสาธารณสุข และได้รับรางวัลโนเบล ปี 2551 ในสาขาการแพทย์ (Medicine) จากการศึกษาวิจัยแพ็บพิลโลม่าไวรัสของคน (เอชพีวี) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก (cervical cancer)
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--