การประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ไทย-กัมพูชา สมัยสามัญ ครั้งที่ 4

ข่าวต่างประเทศ Tuesday February 3, 2009 11:04 —กระทรวงการต่างประเทศ

ระหว่างวันที่ 3 — 4 กุมภาพันธ์ 2552 จะมีการจัดการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา สมัยสามัญ ครั้งที่ 4 ขึ้น ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ โดยมีอดีตเอกอัครราชทูตวศิน ธีรเวชญาณ

เป็นประธานการประชุมฝ่ายไทย และนายวาร์ คิม ฮง รัฐมนตรีอาวุโสผู้รับผิดชอบกิจการชายแดนเป็นประธานการประชุมฝ่ายกัมพูชา ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งอดีตเอกอัครราชทูตวศินฯ เป็นประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2552

คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาได้ประชุมกันมาแล้ว 6 ครั้ง โดยแบ่งเป็นสมัยสามัญ 3 ครั้ง และสมัยวิสามัญ 3 ครั้ง โดยในการประชุมครั้งล่าสุดคือการประชุมสมัยวิสามัญ ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 10 -12 พฤศจิกายน 2551 ที่เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา นั้น ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันโดยให้ความสำคัญกับปัญหาพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารเป็นหลัก และการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาครั้งนี้จะเป็นการหารือต่อเนื่องในประเด็นต่างๆ ที่คงค้างมาจากการประชุมสมัยวิสามัญที่เมืองเสียมราฐ และจะหารือเรื่องภารกิจประจำของคณะกรรมาธิการฯ อาทิ การรายงานผลการสำรวจของชุดสำรวจ และการผลิตแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศด้วย

ไทยกับกัมพูชามีเขตแดนระหว่างกันยาว 798 กิโลเมตร ผ่านจังหวัดชายแดน 7 จังหวัด ได้แก่ ตราด จันทบุรี สระแก้ว บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ อุบลราชธานี ทั้งนี้ เขตแดนไทย-กัมพูชาเป็นผลจากอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ฉบับปี ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ฉบับปี ค.ศ. 1907 และพิธีสารแนบท้าย จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2543 ไทยกับกัมพูชาได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตลอดแนว (MOU) มีสาระสำคัญคือ 1. ใช้สนธิสัญญาทั้งสองฉบับและเอกสารที่เกี่ยวข้อง 2. ตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (Thai-Cambodian Joint Commission on Demarcation for land Boundary — JBC) 3. ห้ามทำลายสภาพภูมิประเทศชายแดนระหว่างรอสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน พื้นที่ที่มีหลักเขตแดนตั้งแต่สมัยสยาม — ฝรั่งเศส คิดเป็นระยะทาง 603 กิโลเมตร มีหลักเขต-แดน 73 หลัก ตั้งแต่หลักเขตแดนที่ 1 อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ถึงอ่าวไทยที่หลักเขตแดนที่ 73 อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด และพื้นที่ที่ยังไม่มีหลักเขตแดนคิดเป็นระยะทาง 195 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่จุดร่วมสามฝ่ายไทย-ลาว-กัมพูชา ที่อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ถึงหลักเขตแดนที่ 1 อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ

อนึ่ง ชุดสำรวจร่วมไทย-กัมพูชา ได้เริ่มปฏิบัติงานในพื้นที่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2549 ปัจจุบันสำรวจหลักเขตแดนไปได้แล้ว 48 หลัก (หลักเขตแดนที่ 23 — หลักเขตแดนที่ 70) ไทยกับกัมพูชาเห็นพ้องกันในที่ตั้งของหลักเขตแดน 33 หลัก ยังเห็นต่างกัน 15 หลัก โดยเฉลี่ยสำรวจได้เดือนละ 2 หลัก

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ