ตามที่ได้มีข่าวปรากฏในรายงานของสำนักข่าวระหว่างประเทศบางแห่ง เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2552 อ้างอิงคำพูดของปลัดกระทรวงการต่างประเทศอย่างไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการเยือนไทยเมื่อเร็วๆ นี้ของนางสาวแองเจลินา โจลี นั้น นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงเรื่องนี้ดังต่อไปนี้
“รายงานข่าวที่อ้างคำให้สัมภาษณ์ของของนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศมีความคลาดเคลื่อน โดยข้อเท็จจริงปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวว่า การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของนางสาวแองเจลินา โจลี เมื่อเร็วๆ นี้ มาในฐานะทูตสันถวไมตรีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โดยได้แจ้งกับฝ่ายไทยว่า วัตถุประสงค์ในการเยือน คือการเยี่ยมพื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่า ที่บ้านใหม่ในสอย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และฝ่ายไทยก็ได้อำนวยความสะดวกแก่การเยือนของนางสาวโจลี โดยปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้อนุมัติตามคำขอด้วยตนเอง จึงเป็นไปไม่ได้ที่ปลัดกระทรวงฯ จะกล่าวตามรายงานข่าวดังกล่าว ที่ว่า UNHCR ไม่ควรนำนางสาวโจลีเข้าไปในพื้นที่พักพิงชั่วคราวนั้น อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาว่านางสาวโจลี ได้แจ้งวัตถุประสงค์ของการเยือนครั้งนี้ ว่าเป็นการเยี่ยมเยือนพื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่า ดังนั้นถึงแม้ว่าในระยะเวลาไล่เลี่ยกันนั้นจะบังเอิญมีรายงานข่าวเกี่ยวกับชาวโรฮิงญาขึ้นมา การที่นางสาวโจลีแสดงความเห็นในเรื่องโรฮิงญาจึงอาจไม่ค่อยเหมาะสมนัก ซึ่งฝ่ายไทยก็ยกข้อสังเกตนี้กับ UNHCR ในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป”
“ปลัดกระทรวงฯ ได้อธิบายด้วยว่า รัฐบาลไทยมีสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะป้องปรามมิให้ผู้หลบหนีเข้าเมืองเข้ามาในดินแดนไทยทั้งทางบกและทางทะเลได้ ในขณะที่หน่วยงานทางการไทยดำเนินการเพื่อปกป้องรักษาความปลอดภัยให้พลเมืองไทยภายในเขตแดนของเรานั้น ก็ได้ให้การปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมต่อผู้หลบหนีเข้าเมืองด้วยและจะทำต่อไป อย่างไรก็ตาม หากมีการค้นพบและควบคุมตัวผู้หลบหนีเข้าเมือง ก็จะต้องดำเนินคดีกับผู้หลบหนีเข้าเมืองเหล่านั้นตามกระบวนการภายใต้กฎหมายเกี่ยวกับการตรวจคนเข้าเมืองของไทย หลังจากที่ผู้หลบหนีเข้าเมืองเหล่านี้ได้รับโทษปรับหรือจำคุกตามกระบวนการภายใต้กฎหมายเกี่ยวกับการตรวจคนเข้าเมืองของไทยเรียบร้อยแล้ว ก็จะถูกส่งกลับออกไปยังประเทศต้นทางของตน โดยอาจได้รับความช่วยเหลือของ UNHCR หรือองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) หากเป็นไปได้ด้วย สำหรับมาตรการระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาโรฮิงญานั้น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอว่า องค์การระหว่างประเทศเช่น UNHCR หรือ IOM อาจช่วยระดมทรัพยากรจากประชาคมระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงญาในประเทศต้นทาง เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องเสี่ยงอันตรายเดินทางข้ามทะเลออกมาหางานทำ”
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวด้วยว่า ในการแก้ปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนนี้ ประเทศไทยได้ยึดมั่นในหลักการด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนตลอดมา และไทยได้หารืออย่างใกล้ชิดกับ UNHCR และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองต่อมิติต่างๆ ของปัญหานี้
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--