เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ 6 องค์กร ณ นครเจนีวา ได้แก่ 1) นาง Kyung-Wha Kang รักษาการข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน 2) นาย Pascal Lamy ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก 3) ดร. Jacob Kellenberger ประธานคณะกรรมการกาชาดสากล 4) นาง Margarget Chan ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก 5) ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการ UNCTAD และ 6) นาย Antonio Guterres ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา
ในช่วงเช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับนาง Kyung-Wha Kang รักษาการข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน และแจ้งว่า ไทยต้องการผลักดันให้ประชาคมอาเซียนเคารพสิทธิมนุษยชนและสนับสนุนกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนอย่างเต็มที่ ซึ่งรักษาการข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนได้กล่าวชื่นชมไทยที่มีบทบาทนำด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค และขอบคุณสำหรับความร่วมมือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนฯ ทั้งที่นครเจนีวาและกรุงเทพฯ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่า กลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมืองในไทย และสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับนาย Pascal Lamy ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก และแจ้งว่า ไทยในฐานะประธานอาเซียนจะขอให้สมาชิกอาเซียนสนับสนุนการเจรจารอบโดฮาให้เป็นผลสำเร็จ และไทยจะหยิบยกเรื่องวิกฤตการเงินขึ้นหารือเมื่อพบกับประเทศในภูมิภาคในเวทีต่างๆ เพื่อช่วยให้ภูมิภาคเอเชียรอดพ้นภาวะวิกฤตการเงินและเสริมสร้างศักยภาพทางการค้าของเอเชีย
ในช่วงบ่าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับ ดร. Jakob Kellenberger ประธานคณะกรรมการกาชาดสากล ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการประสานงานอย่างสม่ำเสมอระหว่างเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทยกับผู้แทนคณะกรรมการกาชาดสากล และความเป็นไปได้เกี่ยวกับการตั้งสำนักงานกาชาดสากลในประเทศไทย สำหรับประเด็นสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งว่า รัฐบาลไทยได้เปลี่ยนการดำเนินนโยบายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ฝ่ายการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบแทนฝ่ายราชการ
ต่อมาระหว่างการหารือกับนาง Margaret Chan ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการการต่างประเทศกล่าวว่า การต่างประเทศของไทยมีมิติด้านสาธารณสุขมานาน ไม่ว่าจะเป็นการรักษาคนไข้จากประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน หรือการให้ความร่วมมือแบบใต้-ใต้ กับประเทศแอฟริกา ซึ่งนาง Chan เห็นว่า ไทยมีบทบาทเป็นที่ยอมรับในวงการสาธารณสุขระหว่างประเทศ และแจ้งว่า องค์การอนามัยโลกยินดีให้ความร่วมมือในการจัดการประชุมด้านสาธารณสุขในภูมิภาคเอเชียที่ไทยสนใจจะเป็นเจ้าภาพจัดในช่วงเดือนกรกฏาคม 2552
ระหว่างการพบหารือกับเลขาธิการ UNCTAD รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับ UNCTAD ในสาขาพลังงานทางเลือก นอกเหนือไปจากสาขาความมั่นคงด้านอาหาร และความร่วมมือใต้-ใต้ และเห็นว่า UNCTAD เป็นองค์กรที่มีองค์ความรู้มาก จึงควรเผยแพร่รายงานที่จัดทำขึ้นและขยายหัวข้อให้ครอบคลุมประเด็นที่สำคัญต่อไทยและอาเซียนมากขึ้น รวมถึงจัดการประชุมเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ต่อมา ในช่วงเย็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับนาย Antonio Guterres ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ โดยทั้งสองได้หารือเกี่ยวกับผู้หนีภัยในภูมิภาคเอเชียในหลายประเด็น ได้แก่ ชาวม้งลาวที่เข้ามืองโดยผิดกฎหมาย ผู้พลัดถิ่นชาวพม่าและแรงงานชาวพม่า สำหรับปัญหาผู้ลักลอบเข้าเมืองทางทะเลชาวโรฮิงญา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ยืนยันกับนาย Guterres ว่า ไทยดำเนินการโดยยึดหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งนาย Guterres เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาระดับภูมิภาคและมีความซับซ้อน การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องครอบคลุมทุกด้านและมีประเทศที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--