กระทรวงการต่างประเทศเตรียมยกประเด็นชาวโรฮิงญาหารือในการประชุมกระบวนการบาหลี ระหว่างวันที่ 24-25 ก.พ. 2552

ข่าวต่างประเทศ Monday February 23, 2009 14:16 —กระทรวงการต่างประเทศ

คณะผู้แทนไทยนำโดยนายนรชิต สิงหเสนี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วย ดร. ชัชชม อรรฆภิญญ์ อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษจากสำนักอัยการสูงสุดของไทย ในฐานะที่เป็นผู้ประสานงานคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจด้านนโยบายกรอบกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายของกระบวนการบาหลี กับผู้แทนจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมกระบวนการบาหลีระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (Bali Process Senior Officials’ Meeting) ระหว่างวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2552 ณ เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย และจะยกประเด็นความร่วมมือระดับภูมิภาคว่าด้วยผู้ลักลอบเข้าเมืองทางทะเลเข้าหารือในกรอบการประชุมนี้ ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการเยือนอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการของนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศไทยและอินโดนีเซียได้หารือและเห็นพ้องกันว่า การประชุมในกรอบกระบวนการบาหลีเป็นเวทีหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับการหารือประเด็นปัญหาผู้ลักลอบเข้าเมืองทางทะเลชาวโรฮิงญาในระดับภูมิภาค และต่อมา รัฐมนตรีต่างประเทศได้มีหนังสือถึงนาย Hassan Wirajuda รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย และนาย Stephen Smith รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย ในฐานะประธานร่วมของการประชุมกระบวนการบาหลีแจ้งความประสงค์ของฝ่ายไทยที่จะหยิบยกประเด็นนี้ในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรีของกระบวนการบาหลี

กระบวนการบาหลี หรือ Bali Process on People Smuggling, Trafficking in Persons and Related Transnational Crime จัดตั้งเมื่อปี 2545 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นกรอบการดำเนินการความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการลักลอบขนคนข้ามชาติ การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยสมาชิก 40 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (รวมถึงพม่า อินโดนีเซีย บังกลาเทศ อินเดีย มาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโรฮิงญาด้วย) ประเทศผู้สังเกตการณ์ 18 ประเทศ และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมทั้ง สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM)

ที่ผ่านมามีการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีของกระบวนการบาหลี 2 ครั้ง เมื่อปี 2545 และ 2546 และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสฯ ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2547 ซึ่งไทยมีบทบาทอย่างสำคัญในฐานะประเทศที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจด้านนโยบายกรอบกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายของกระบวนการบาหลีตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งไทยก็พร้อมจะสานต่อบทบาทที่แข็งขันและสร้างสรรค์นี้ต่อไป ในการประชุมครั้งนี้ ดร. ชัชชมฯ เตรียมนำเสนอรายงานต่อที่ประชุมเรื่องพัฒนาการล่าสุดของกฎหมายไทยกล่าวคือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเน้นไปที่การให้ ความคุ้มครองเหยื่อของการค้ามนุษย์มากขึ้น ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญในความพยายามของประเทศไทยที่จะดำเนินการกับปัญหาดังกล่าวโดยพร้อมจะร่วมมือกับประเทศต่างๆ ด้วย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ