รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพบหารือกับสมาชิกสภายุโรป

ข่าวต่างประเทศ Tuesday February 24, 2009 11:33 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 นายฮาร์ตมุต นาสเซาเออร์ สมาชิกสภายุโรป (เยอรมนี) และประธานกลุ่มสมาชิกสภายุโรปที่ดูแลความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมด้วย นางจิโอวานนา คอร์ดา สมาชิกสภายุโรป (เบลเยียม) และรองประธานกลุ่มสมาชิกสภายุโรปฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

การเยือนไทยของคณะสมาชิกสภายุโรปครั้งนี้เป็นการแสดงถึงความสำคัญที่สภายุโรปมีต่อความสัมพันธ์ไทย-สหภาพยุโรป และเป็นการให้การยอมรับและสนับสนุนรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันหลายประเด็น โดยฝ่ายไทยได้ย้ำว่าการดำเนินนโยบายของรัฐบาลทั้งภายในประเทศและนโยบายต่างประเทศยึดถือระบอบประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน ในด้านเศรษฐกิจ ไทยสนับสนุนการค้าเสรีและเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ไม่ใช้มาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นประเด็นที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์กล่าวที่ World Economic Forum ณ เมืองดาวอส รัฐบาลสนับสนุนการเจรจาจัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement) ระหว่างไทยกับประชาคมยุโรป และความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับอียู ไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าอาหารรายใหญ่ของโลกยินดีร่วมมือกับอียูด้านความมั่นคงทางอาหาร (food security) ในรูปของความร่วมมือไตรภาคี เพื่อช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านของไทย และแอฟริกา ในเรื่องปัญหาชาวโรฮิงญา ขณะนี้ มีการประชุมกระบวนการบาหลี (Bali process) ในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ที่นครบริสเบน ซึ่งที่ประชุมจะหารือปัญหาโรฮิงญาด้วย ซึ่งเป็นผลจากความพยายามของไทยในการผลักดันให้ประเทศที่เกี่ยวข้องในภูมิภาค รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ UNHCR ร่วมกันแก้ปัญหาระดับภูมิภาคนี้ ไทยในฐานะประธานอาเซียนจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่เข้มแข็งและก้าวหน้า อาเซียนสามารถเรียนรู้จากอียูโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างอัตลักษณ์ร่วม (common identity) การสร้างกฎระเบียบเพื่อรองรับและสนับสนุนการบูรณาการของอาเซียน อาทิ การยอมรับมาตรฐานทางวิชาชีพระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และนโยบายของอียูในการลดช่องว่างระหว่างประเทศสมาชิกฯ

ฝ่ายไทยย้ำการสนับสนุนการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับอียู แต่อาเซียนก็มีข้อห่วงกังวลบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎระเบียบของอียูที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งอาเซียนต้องการให้อียูช่วยพัฒนาและส่งเสริมขีดความสามารถของบุคลากรอาเซียนในด้านต่างๆ ซึ่งน่าจะช่วยส่งผลให้กระบวนการเจรจา FTA สามารถตกลงกันได้ง่ายขึ้นด้วย

ฝ่ายอียูย้ำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอียูและระหว่างอาเซียนกับอียูขยายตัวเป็นลำดับ อียู อยากเห็นความเข้มแข็งและความเติบโตของระบอบประชาธิปไตยในภูมิภาคอียูขอให้ไทยสนับสนุนการเจรจา PCA ระหว่างไทยกับอียู และความตกลง FTA ระหว่างอาเซียนกับอียู

สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย มูลค่าการค้ารวมในปี 2551 คิดเป็น 37.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้าสหภาพยุโรป 9.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศคู่ค้ารายใหญ่ในสหภาพยุโรป 5 อันดับแรก ได้แก่ เยอรมนี อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และฝรั่งเศส

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ