เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 19.00 น. ที่โรงแรมดุสิตธานีหัวหิน อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ได้ลงนามความตกลงด้านเศรษฐกิจในกรอบอาเซียน จำนวน 6 ฉบับ ดังนี้
1. ความตกลงการค้าสินค้าฉบับใหม่ของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement)
2. พิธีสารอนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 7 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (Protocol to Implement the Seventh Package of Commitments under the ASEAN Framework Agreement on Services)
3. ความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement : ACIA)
4. ข้อตกลงการยอมรับร่วมสาขาวิชาชีพแพทย์ (Mutual Recognition Arrangement on Medical Practitioners)
5. ข้อตกลงการยอมรับร่วมสาขาวิชาชีพทันตแพทย์ (Mutual Recognition Arrangement on Dental Practitioners)
6. กรอบข้อตกลงการยอมรับร่วมสาขาบัญชี (Framework Mutual Recognition Arrangement on Accountancy Services)
นอกจากนี้ รัฐมนตรีพาณิชย์ไทยและอินโดนีเซียยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง อินโดนีเซียและไทยเรื่องน้ำตาล เพื่อสร้างหลักประกันการนำเข้าน้ำตาลจากไทยของอินโดนีเซีย หลังจากอินโดนีเซียมีปัญหาไม่สามารถลดภาษีตามกำหนดได้
ทั้งนี้ ความตกลงทั้งหมดข้างต้นจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการปูทางอาเซียนไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ที่มีการไหลเวียนอย่างเสรีของสินค้า การบริการ การลงทุน และแรงงานฝีมือต่อไป
สาระโดยย่อของความตกลงด้านเศรษฐกิจของอาเซียนที่ได้รับการลงนาม
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552
1. ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน - เป็นการรวบรวมกฎเกณฑ์ทางการค้าเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งมีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2535 ให้เข้ามารวมอยู่ในฉบับเดียวกัน เพื่อให้เกิดความทันสมัย ชัดเจน และสะดวกมากขึ้น โดยไม่ได้มีพันธกรณีเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่เดิม ซึ่งความตกลงนี้ จะทำให้การเปิดเสรีการค้าภายในอาเซียนมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นระบบยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลในการทำให้การค้าสินค้าระหว่างอาเซียนขยายตัวยิ่งขึ้น
2. ความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน ซึ่งเป็นการรวมความตกลงการเปิดเสรีด้านการลงทุน และความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนของอาเซียนที่มีอยู่เข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนภายในอาเซียน ซึ่งความตกลงฉบับนี้ จะทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจทัดเทียมกับประเทศแหล่งลงทุนอื่นๆ เช่น อินเดีย จีน ฯลฯ
3. พิธีสารอนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 7 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน เป็นพิธีสารที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันการค้าบริการตามข้อผูกพันในตารางแนบท้าย (ซึ่งจะต้องมีการจัดทำตารางแนบท้ายต่อไป) โดยพิธีสารฯ จะเป็นการทำให้การค้าบริการของอาเซียนก้าวต่อไปอีกก้าวหนึ่งสู่การเปิดเสรีระหว่างกันในปีเป้าหมายคือ 2558
4. — 6 .ข้อตกลงยอมรับร่วมด้านวิชาชีพ 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ข้อตกลงยอมรับร่วมสาขาวิชาชีพแพทย์ของอาเซียน (2) ข้อตกลงยอมรับร่วมสาขาวิชาชีพทันตแพทย์ของอาเซียน และ (3) กรอบข้อตกลงยอมรับร่วมสาขาวิชาชีพบัญชีของอาเซียน โดยเอกสารทั้งสามฉบับ เป็นข้อตกลงว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนจะยอมรับร่วมกันเรื่องคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น การศึกษา และประสบการณ์การทำงาน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เป็นเงื่อนไขในการได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพ 3 สาขา ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ และบัญชี เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้ สามารถยื่นคำขอใบอนุญาต โดยไม่เสียเวลาตรวจสอบคุณสมบัติซ้ำ ทั้งนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพยังต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องของประเทศที่เข้าไปทำงาน เช่น การสอบ การขึ้นทะเบียน การขอใบอนุญาตทำงาน เป็นต้น
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--