งานสัมมนานานาชาติเรื่อง Future of Carbon Finance in Thailand: CDM Projects, Post — Kyoto Protocol

ข่าวต่างประเทศ Tuesday March 10, 2009 11:23 —กระทรวงการต่างประเทศ

ด้วยกระทรวงการต่างประเทศ โดยทีมประเทศไทย ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะจัดสัมมนานานาชาติ เรื่อง “Future of Carbon Finance in Thailand: CDM Projects, Post — Kyoto Protocol” ในวันจันทร์ที่ 16 มีนาคม 2552 เวลา 8.30 — 17.30 น. ณ ห้อง Athenee Crystal Hall โรงแรม Plaza Athenee กรุงเทพฯ โดยวิทยากรประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สถาบันการเงินระหว่างประเทศ สถาบันการเงินเอกชนจากทั้งญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมัน และของไทย

การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับความรู้ถึงแนวโน้มตลาดการค้าคาร์บอนเครดิตในอนาคตทั้งของโลกและประเทศไทย รวมถึงนโยบายและมาตรการจากภาครัฐที่สนับสนุนและเผยแพร่ความรู้ที่จำเป็นในการพัฒนาโครงการสะอาด (Clean Development Mechanism — CDM) โดยเฉพาะในแง่การเงินและการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการและสถาบันการเงินที่สนใจได้รับทราบ เพื่อเป็นการส่งเสริมการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการและสถาบันการเงินในประเทศไทย รวมถึงเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการสร้างโอกาสทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการและสถาบันการเงินในไทยกับสถาบันการเงิน และหน่วยงานจากต่างประเทศที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตในระดับโลก

ทั้งนี้ ทีมประเทศไทย ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ได้จัดการสัมมนาเรื่องการเตรียมความพร้อมระบบการเงินไทยเพื่อรองรับการค้าคาร์บอนเครดิต (Recent Development in Carbon Markets: Implications for Thailand’s Financial Market) ขึ้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2551 เพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชนตระหนักถึงผลที่จะมีต่อการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว จากการที่ประชาคมระหว่างประเทศกำลังให้ความสำคัญแก่การแก้ปัญหาโลกร้อน ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพิธีสารเกียวโต ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคการเงิน นักวิชาการ ตลอดจนผู้ประกอบการที่มีความสนใจลงทุนในโครงการสะอาด (CDM) เพื่อผลิตคาร์บอนเครดิต โดยพบว่าธุรกิจคาร์บอนเครดิตนั้นยังมีโอกาสที่จะเติบโตในประเทศไทยอีกมาก และถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้มีพันธกรณีที่จะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามพิธีสารเกียวโต แต่ประเทศไทยก็ถือได้ว่ามีศักยภาพในการดำเนินโครงการ CDM เพื่อผลิตคาร์บอนเครดิตประเภท Carbon Emission Reduction (CERs) ซึ่งสามารถนำไปขายให้กับบริษัท หน่วยงาน และรัฐบาล ของประเทศพัฒนาแล้ว ที่ไม่สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศตนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามพิธีสารเกียวโตได้

ปัจจุบันธุรกิจคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยยังคงเติบโตอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่ การขาดนโยบายและมาตรการสนับสนุนที่ชัดเจนจากหน่วยงานภาครัฐ ขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญทางเทคนิคสิ่งแวดล้อมและด้านการเงิน ขาดหน่วยงานกลาง รวมทั้งข้อจำกัดด้านกฎระเบียบด้านการเงินที่อนุญาตให้สถาบันการเงินทำธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ แม้ว่าปัญหาโลกร้อนอาจได้รับความสำคัญน้อยลงไปเมื่อเทียบกับปัญหาเศรษฐกิจที่เร่งด่วนอื่นๆ อย่างไรก็ดี ด้วยแรงกดดันจากปัจจัยระหว่างประเทศ อาทิ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าแต่ละชนิด การติดสลากบนผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงปริมาณคาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่เกิดขึ้นจากวงจรผลิต (carbon footprint) ความตื่นตัวของผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้ว ดังเห็นได้จากการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (eco-friendly products) ตลอดจนทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทยจะต้องเตรียมตัวรับมืออย่างจริงจัง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อสินค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวของไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ