นางรามา ย้าด (Rama Yade) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส รับผิดชอบด้านการต่างประเทศและสิทธิมนุษยชน มีกำหนดเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 12 — 14 มีนาคม 2552 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส โดยจะเข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในวันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม 2552 เวลา 12.45 น. ซึ่งจะเป็นการพบปะกันครั้งแรกนับตั้งแต่นายกษิต ภิรมย์ เข้ารับตำแหน่ง ตามด้วยการร่วมรับประทานอาหารกลางวัน และการแถลงข่าวร่วมระหว่างรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่าย
การเยือนประเทศไทยครั้งนี้ นางย้าดมีกำหนดเยือนประเทศไทยเพียงประเทศเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่ฝรั่งเศสให้กับไทย โดยจะมีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ในอันที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์และความใกล้ชิดระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ทั้งในกรอบทวิภาคี พหุภาคี และความร่วมมือในอนุภูมิภาค และระหว่างภูมิภาค อาทิ การจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ฉบับที่ 2 (2552 — 2556) การส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนความร่วมมือด้านการศึกษา ความร่วมมือไตรภาคีไทย-ฝรั่งเศสใน โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ระหว่างกัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม (ACMECS) และกรอบแอฟริกา การเป็นประธานอาเซียนของไทย ความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป และการประชุม London Summit/G20 ที่กรุงลอนดอนในต้นเดือนเมษายน 2552 เป็นต้น นอกจากนี้ นายฌ็อง-แพ็ททริก กูร์ตัว (Jean-Patrick Courtois) วุฒิสมาชิก และนายฟิลิป วิตเตล (Philippe Vittel) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งร่วมคณะการเยือนประเทศไทยครั้งนี้มีกำหนดจะพบปะสมาชิกกลุ่มมิตรภาพไทย-ฝรั่งเศส ของรัฐสภาไทยด้วย
นางย้าดซึ่งรับผิดชอบและมีความสนใจด้านสิทธิมนุษยชนเป็นพิเศษ มีกำหนดเยี่ยมชมสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ จังหวัดนนทบุรี ในวันศุกร์ที่ 13 มีนาคม 2552 เพื่อศึกษาดูงานเกี่ยวกับการบำบัด ฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพแก่หญิงที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี และเด็กที่ประสบปัญหาต่างๆ อาทิ จากการค้ามนุษย์ รวมทั้งมีกำหนดเยี่ยมชม “บ้านใหม่นายสอย” ซึ่งเป็นพื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่าที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันเสาร์ที่ 14 มีนาคม 2552 ด้วย
ไทยกับฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์กันมายาวนานถึง 322 ปี ในปัจจุบันทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงมาโดยตลอด ทั้งในระดับพระบรมวงศานุวงค์ องค์กรอิสระ และหน่วยงานภาครัฐ ในปี 2551 การค้ารวม มีมูลค่า 3,373.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เป็นอันดับที่ 5 ในกลุ่มสหภาพยุโรป รองลงมาจากเยอรมนี สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี) โดยไทยส่งออก 1,886.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 1,486.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในด้านการท่องเที่ยว มีชาวฝรั่งเศสเดินทางมาไทย จำนวน 405,937 คน (เป็นอันดับ 3 ในกลุ่มสหภาพยุโรป รองลงมาจากสหราชอาณาจักร และเยอรมนี) ในขณะที่การลงทุนของฝรั่งเศสในประเทศไทย ซึ่งผ่าน BOI มีจำนวน 24 โครงการ มูลค่าทั้งสิ้น 2,027 ล้านบาท (เป็นอันดับที่ 5 ในกลุ่มสหภาพยุโรป รองลงมาจากเนเธอร์แลนด์สหราชอาณาจักร เบลเยี่ยม และเยอรมนี)
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--