การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการอนุวัติและส่งเสริมความเป็นสากล ของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล

ข่าวต่างประเทศ Thursday April 2, 2009 11:52 —กระทรวงการต่างประเทศ

การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการอนุวัติและส่งเสริมความเป็นสากล ของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Bangkok Workshop on Achieving a Mine-Free South East Asia)

ประเทศไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสหภาพยุโรป (European Union) จะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการอนุวัติและส่งเสริมความเห็นสากลของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Bangkok Workshop on Achieving a Mine-Free South East Asia) ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน 2552 ณ โรงแรม JW Marriott ถ.สุขุมวิท กรุงเทพฯ เพื่อสร้างความเข้าใจและรณรงค์ความสำคัญของการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากฝ่ายต่างๆ ในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล รวมถึงเผยแพร่ประสบการณ์และความก้าวหน้าของไทยในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและผู้พิการจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคล โดยนอกเหนือจากการประชุมในกรุงเทพฯ จะจัดให้มีการดูงานด้านเก็บกู้ทุ่นระเบิดที่หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม จ.สระแก้ว และการดูงานด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด ณ มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการหยาดฝน ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ. เชียงใหม่ ในวันที่ 1 เมษายน อีกด้วย และจะมีการประชุมคู่ขนานสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดในช่วงเดียวกัน การประชุมครั้งนี้ จะมีผู้แทนจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย และประเทศที่มีบทบาทสำคัญด้านทุ่นระเบิดสังหารบุคคล รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศและองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ประมาณ 130 คน เข้าร่วม

นอกจากนี้ การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นในช่วงเวลาที่สหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 4 เมษายนของทุกปีเป็นวันรณรงค์การดำเนินงานด้านทุ่นระเบิดสากล (International Day for Mine Awareness and Assistance in Mine Action) ตลอดจนเป็นวาระครบรอบ 10 ปีที่อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Mine Ban Convention หรือ Ottawa Convention) มีผลบังคับใช้ (เมื่อ 1 มีนาคม ค.ศ. 1999) การรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมของไทย จึงเป็นโอกาสอันดีในการแสดงบทบาทของไทยในการสนับสนุนการอนุวัติและส่งเสริมความสำคัญของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในระดับภูมิภาคเอเชีย และย้ำถึงความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามพันธกรณีอนุสัญญาของไทยในฐานะรัฐภาคี ตลอดจนสร้างความต่อเนื่องของบทบาทของไทยในระดับภูมิภาคหลังจากที่ไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญา(Meeting of the State Parties) ครั้งที่ 5 เมื่อ 15-19 กันยายน 2546 และทำหน้าที่ประธานรัฐภาคีอนุสัญญาฯ จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2547

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีประเทศต่างๆ ที่เป็นภาคีอนุสัญญาฯ 156 ประเทศ โดยไทยในฐานะประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทุ่นระเบิดและให้ความสำคัญต่อมนุษยธรรม ได้เป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมลงนามตั้งแต่วันแรกที่มีการเปิดให้ลงนาม พันธกรณีที่ไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอดคือการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดในประเทศไทยให้ได้รับการดูแลทั้งทางการแพทย์และการฟื้นฟูกายภาพและจิตใจอย่างทั่วถึง และการเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้หมดจากดินแดนไทยเพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจของชุมชนและเสริมสร้างมนุษยธรรมต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจและแจ้งเตือนภัยจากทุ่นระเบิดแก่ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อทุ่นระเบิดและภาคประชาสังคมทั่วไป

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ