เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2552 นายพณิช วิกิจเศรษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน และนายมาริโอ อามาโนะ รองเลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาการทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic and Co-orporation Development — OECD) ได้แถลงข่าวหลังจากเปิดการประชุม OECD-Southeast Asia Regional Forum ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมโฟร์ ซีซั่น
ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า การประชุมฯ ในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ OECD สำนักเลขาธิการอาเซียน และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank- ADB) มีความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน และกลุ่มประเทศ OECD นอกจากนี้ การประชุมฯ ครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศในการสร้างความเชื่อมั่นในสายตานานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติที่สำคัญ
เลขาธิการอาเซียนได้กล่าวว่า สำนักเลขาธิการอาเซียนเล็งเห็นถึงความสำคัญในการร่วมมือกับภูมิภาคต่างๆ เพื่อเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น ได้ร่วมกับประเทศคู่เจรจาจัดตั้งสถาบันวิจัย East Asia Economic Research Institute for East Asia and ASEAN (ERIA) ซึ่งยังคงต้องการรับความร่วมมือและการสนับสนุนในการพัฒนาความเชี่ยวชาญจากสำนักงาน OECD ที่ปารีสในฐานะที่ทำการค้นคว้าสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับการประชุมฯครั้งนี้ การเพิ่มพูนการแข่งขันเพื่อนำไปสู่การบูรณาการของเศรษฐกิจในภูมิภาคเป็นหัวข้อที่สำคัญที่จะช่วยให้อาเซียนและเอเชียตะวันออกเพิ่มพูนศักยภาพทางการแข่งขันและเผชิญปัญหาที่ท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการกีดกันทางการค้าได้ การลงทุนเพื่อสร้างอุปสงค์ภายใน การส่งเสริมให้เอเชียตะวันออกเป็นตลาดเดียว เพื่อเสถียรภาพและการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก
รองเลขาธิการ OECD กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับ OECD ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคสำคัญที่ OECD ต้องการเพิ่มพูนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ จึงได้เริ่มจัดการประชุม OECD-Southeast Asia Regional Forum ครั้งที่ 1 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี 2550สำหรับหัวข้อของการประชุมฯ ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในปีนี้ ได้แก่ การเพิ่มพูนความสามารถทางการแข่งขันด้วยการรวมกลุ่มเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Enhancing Competitiveness through Regional Integration) ซึ่งเชื่อว่าทั้งสองกลุ่มประเทศมีประสบการณ์และมุมมองที่น่าสนใจที่จะนำมาแลกเปลี่ยนและเปรียบเทียบกัน
การประชุมด้านเศรษฐกิจระดับภูมิภาคในครั้งนี้มีผู้แทนเข้าร่วมประมาณ 120 คนจาก 48 ประเทศ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 เมษายน 2552 ภายใต้ 5 หัวข้อ ได้แก่ 1) มุมมองเศรษฐกิจมหภาคและความท้าทายของการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค 2) การสนับสนุนทางการเงินสำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม โลกาภิวัฒน์ และวิกฤตโลก 3) การสร้างบรรยากาศที่ดึงดูดการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3) กฎหมายและนโยบายการแข่งขัน 4) มองไปข้างหน้า: ความร่วมมือในอนาคตของอาเซียนและ OECD ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดผลจากการประชุมฯ ได้ที่ http://www.oecd.org/regional/searf2009
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--