เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2552 นายชางกับ ดอร์จี ประธานสภาองคมนตรีภูฏาน พร้อมคณะองคมนตรีภูฏาน เข้าเยี่ยมคารวะนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยคณะองคมนตรีภูฏาน อยู่ระหว่างการเยือนเพื่อทำความคุ้นเคยกับประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวต้อนรับคณะองคมนตรีภูฏานสู่ประเทศไทย โดยประธานสภาองคมนตรีภูฏานได้กล่าวขอบคุณและแจ้งว่า นอกจากการเดินทางในครั้งนี้จะมีจุดประสงค์เพื่อให้องคมนตรีภูฏานทำความคุ้นเคยกับประเทศไทยแล้ว ยังต้องการที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับระบบองคมนตรีของประเทศไทย เนื่องจากสภาองคมนตรีของภูฏานเพิ่งจะเริ่มมีขึ้นหลังการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศเมื่อเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจึงได้เล่าถึงประวัติศาสตร์และบทบาทคณะองคมนตรีของไทยที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ยาวนานกว่า 100 ปี ทั้งสองฝ่ายชื่นชมความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน โดยเฉพาะความคล้ายคลึงของทั้งสองประเทศในฐานะที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ นับถือพุทธศาสนา และไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศใด
ฝ่ายภูฏานได้แจ้งขอรับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ทักษะและความชำนาญ อาทิ ทักษะในการหล่อสำริด สำหรับโครงการ “Dharma Project” ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน เพื่อรักษางานศิลปะและถาวรวัตถุทางพุทธศาสนาของภูฏาน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรับที่จะให้การสนับสนุนและจะแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานระหว่างกันต่อไป นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้แสดงความสนใจที่จะร่วมมือด้านการผลิตยาสมุนไพร ซึ่งประธานสภาองคมนตรีภูฏานเห็นพ้องกับความร่วมมือด้านดังกล่าว โดยที่ภูฎานมีวัตถุดิบสมุนไพรที่มาจากธรรมชาติ ในขณะที่ประเทศไทยมีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีการผลิต
ไทยและภูฏานสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 20 ปี เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และประธานสภาองคมนตรีชางกับ ดอร์จี เคยดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตภูฎานประจำประเทศไทยคนแรก เมื่อปี 2542-2548 ต่อมา ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Association for Regional Cooperation — SAARC) ก่อนที่จะกลับไปดำรงประธานสภาองคมนตรีคนแรกของภูฎานภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--