อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายพบกับผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโกประจำประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิกเพื่อหารือเรื่องปราสาทพระวิหาร

ข่าวต่างประเทศ Friday May 22, 2009 11:17 —กระทรวงการต่างประเทศ

1. เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2552 อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้เชิญนายกวาง โจ คิม (Mr. Gwang-jo Kim) ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโกประจำประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิคมาพบ เพื่อหารือกรณีเจ้าหน้าที่ยูเนสโกและผู้เชี่ยวชาญกัมพูชาเดินทางเข้าปราสาทพระวิหารช่วงปลายเดือนมีนาคม — ต้นเดือนเมษายน 2552 แต่เนื่องนายกวาง โจ คิม ป่วย จึงได้มอบนาย Clive Wing หัวหน้าฝ่ายสารนิเทศและการจัดการความรู้ (Chief of Information and Knowledge Management Unit) เป็นผู้แทนมาพบ

2. อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายได้ย้ำแนวทางการดำเนินการกรณีเจ้าหน้าที่หรือผู้เชี่ยวชาญหรือผู้แทน ประสงค์จะเดินทางเข้าปราสาทพระวิหารตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ให้ผู้แทนยูเนสโกรับทราบ ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญว่าหากเจ้าหน้าที่หรือผู้เชี่ยวชาญหรือผู้แทนยูเนสโกจะผ่านหรือเข้ามาในดินแดนไทย เพื่อดำเนินการ ให้ขออนุญาตไทยก่อน เพื่อให้ไทยอำนวยความสะดวกอย่างเหมาะสม

3. การพบหารือระหว่างอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกับผู้แทนสำนักงานยูเนสโกเกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหารนี้ เป็นการหารือต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2552 ซึ่งอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายได้เชิญนาย Clive Wing ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโกประจำประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิกมาพบ และได้แจ้งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ข้างต้นให้ทราบครั้งหนึ่งแล้ว

4. หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2552 กระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือแจ้งยูเนสโกอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งว่าตามที่คณะกรรมการมรดกโลกได้ลงมติในสมัยประขุมที่ 32 ให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกกับขอให้กัมพูชาตั้งคณะกรรมการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ (International Coordinating Committee — ICC) เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาปราสาทฯ นั้น เนื่องจากข้อมติฯ กำหนดให้ทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียนคือตัวปราสาทเท่านั้น ไม่รวมถึงพื้นที่ชะง่อนผาที่กว้างกว่า (wider promontory) กับหน้าผาและถ้ำ บทบาทยูเนสโกและ ICC จึงถูกจำกัดด้วยขอบเขตทางภูมิศาสตร์ไว้เพียงเท่านั้น ดังนั้น กิจกรรมใดที่ยูเนสโก ICC หรือฝ่ายอื่นที่จะทำในพื้นที่ติดกับปราสาทนอกขอบเขตที่ได้ขึ้นทะเบียนจะต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการล่วงหน้าจากรัฐบาลไทย นอกจากนั้น การเดินทางเข้าสู่ปราสาทซึ่งจะต้องผ่านดินแดนหรือน่านฟ้าของไทยก็จะต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากรัฐบาลไทยด้วยเช่นเดียวกัน การแจ้งดังกล่าวนี้ ดำเนินการพร้อมกันทั้งที่กรุงเทพฯ ที่สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโกที่กรุงปารีส และสำนักงานยูเนสโกกรุงพนมเปญ โดยผ่านสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ตามลำดับ

5. ยูเนสโกมีท่าทีตอบสนองด้วยดี โดยเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2552 นางฟร็องซัวส์ ริวิแยร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก ฝ่ายวัฒนธรรม ได้แจ้งต่อเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำยูเนสโก ว่าคณะสำรวจซึ่งประกอบด้วยผู้แทน ICOMOS และผู้เชี่ยวชาญชาติต่าง ๆ ได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่ปราสาทพระวิหารในต้นเดือนเมษายน 2552 เพื่อประเมินความเสียหายของโบราณสถาน พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางในการซ่อมแซมเท่านั้น โดยนางริวิแยร์ได้กำชับให้คณะสำรวจหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านพื้นที่พิพาท ซึ่งคณะสำรวจก็ได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยได้เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปลงที่เชิงหน้าผาทางฝั่งกัมพูชาและเดินขึ้นไปยังตัวปราสาทพระวิหารทางช่องบันไดหัก โดยใช้เวลาในการเดินประมาณ 2 ชั่วโมง นางริวิแยร์ได้แจ้งด้วยว่าโดยที่การเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ของคณะสำรวจได้เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกองกำลังทหารไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2552 คณะสำรวจจึงไม่สามารถเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นใหม่ได้ อย่างไรก็ดี จากการที่ตนได้ตรวจสอบข้อมูลจากภาพถ่ายภายหลังการปะทะกัน เห็นว่าแทบจะไม่มีความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นใหม่

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ-- -พห-


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ