ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 9 และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-สหภาพยุโรป (อียู) ครั้งที่ 17

ข่าวต่างประเทศ Monday June 1, 2009 15:01 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 9 ณ กรุงฮานอย เวียดนาม ระหว่างวันที่ 25-26 พฤษภาคม 2552 การประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-สหภาพยุโรป ครั้งที่ 17 ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2552 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

  • รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวสรุปถึงจุดประสงค์ของการประชุมในเวทีทั้งสองว่า เป็นเวทีที่เชื่อมระหว่างสองทวีปเพื่อเปิดโอกาสให้มีการพบปะหารือของทั้งสองฝ่าย เพื่อการพัฒนาและกระชับความร่วมมือต่างๆ รวมทั้งได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นที่ท้าทายของโลก อาทิ วิกฤตการเงินและเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ บรรยากาศในเวทีทั้งสองเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และที่สำคัญได้สะท้อนให้เห็นถึงสถานะของอาเซียนที่ทวีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน
  • เกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือระหว่างสองฝ่าย ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป ได้มีการหารือในประเด็นต่างๆ อาทิ การให้ความช่วยเหลือภายหลังการเกิดพายุไซโคลนนาร์กิส โดยประชาคมระหว่างประเทศกำลังระดมความช่วยเหลือด้านการเงินจำนวน 690 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แก่พม่า ระหว่างปี 2552-2554 และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ยุโรปได้ให้ความสนใจ โดยไทยย้ำต่อที่ประชุมฯ ว่า จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม UN Climate Change Talks ระหว่างวันที่ 28 กันยายน-9 ตุลาคม 2552 ที่กรุงเทพฯ เพื่อสานต่อการประชุมใหญ่ที่กรุงโคเปนเฮเกน ในเดือนธันวาคม 2552
  • ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-สหภาพยุโรป ได้รับรองวาระกรุงพนมเปญเพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการอาเซียน-สหภาพยุโรป ระหว่างปี 2552-2553 (Phnom Penh Agenda for the Implementation of the ASEAN-EU Plan of Action 2009-2010) และแถลงการณ์ของประธานร่วม (Co-Chairmen’s Statement) ซึ่งได้กล่าวถึงการทบทวนความคืบหน้าความสัมพันธ์ การหารือในประเด็นด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่อยู่ในความสนใจ ตลอดจนทิศทางความร่วมมือในอนาคต
  • ในฐานะประธานอาเซียน รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวในที่ประชุมทั้งสองเวที เกี่ยวกับการมีผลใช้บังคับของกฎบัตรอาเซียน การมุ่งมั่นในการจัดตั้งประชาคมอาเซียน การจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เป็นไปตามกฎบัตรอาเซียน โดยย้ำเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน การเคารพต่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ
  • ในประเด็นเกี่ยวกับพม่า ได้มีการหารือร่วมกันทั้งสองเวที โดยที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป เห็นด้วยกับการออกแถลงการณ์ของไทยในฐานะประธานอาเซียน และได้มีการหารืออีกครั้งในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชาในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-สหภาพยุโรป โดยที่ประชุมฯ เห็นพ้องว่า แถลงการณ์ดังกล่าวไม่เป็นการแทรกแซงหรือละเมิดอธิปไตยของพม่า แต่เป็นการแสดงความห่วงใย และต้องการเห็นพัฒนาการของพม่าที่นำไปสู่กระบวนการประชาธิปไตยและการปรองดองแห่งชาติของพม่า โดยที่ประชุมฯ ได้ย้ำว่า อาเซียนเป็นครอบครัวเดียวกัน ความเป็นไปของสมาชิกในครอบครัวก็มีผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ย้ำว่า ความสัมพันธ์และความร่วมมือไทยกับพม่าจะยังคงดำเนินอย่างใกล้ชิดต่อไป

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ