งานฉลองครบรอบ 12 ปีของการก่อตั้งความร่วมมือในกรอบ BIMSTEC

ข่าวต่างประเทศ Friday June 5, 2009 15:34 —กระทรวงการต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกกรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation — BIMSTEC) ประจำประเทศไทย ประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล และศรีลังกา จะจัดงานฉลองครบ 12 ปี (ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540) ของการก่อตั้งกรอบความร่วมมือฯ ในวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน 2552 ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ โดยจะมีการจัดสัมมนา (ภาษาไทย) หัวข้อ “BIMSTEC 12 ปี ของความสำเร็จ: ภูมิหลังและการดำเนินความร่วมมือในกรอบ BIMSTEC ในปัจจุบัน” โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนกล่าวเปิดงาน ระหว่างเวลา 14:00 — 17:30 น.

การจัดสัมมนาฯ ครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนรับทราบและใช้ประโยชน์จากพัฒนาการความร่วมมือในกรอบ BIMSTEC ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยจะมีคณะทูตานุทูต และสื่อมวลชนเข้าร่วมการสัมมนาฯ ด้วย และในช่วงเย็นจะจัดให้มีงานเลี้ยงรับรองฉลองครบรอบ 12 ปี ของการก่อตั้ง BIMSTEC

ความร่วมมือในกรอบ BIMSTEC เป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการระหว่าง 7 ประเทศในอ่าวเบงกอล เพื่อเชื่อมอนุภูมิภาคเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นความริเริ่มของไทยเมื่อปี 2540 เพื่อกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและทางวิชาการระหว่างประเทศสมาชิก และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งส่งเสริมความกินดีอยู่ดีของประเทศสมาชิกและประชาชน ปัจจุบัน มีกรอบความร่วมมือรวม 13 สาขา ได้แก่ 1) การค้าการลงทุน 2) การท่องเที่ยว 3) การสื่อสารและคมนาคม 4) พลังงาน 5) เทคโนโลยี 6) ประมง 7) เกษตร 8) การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ 9) ปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชน 10) สาธารณสุข 11) วัฒนธรรม 12) การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ และ13) การลดความยากจน โดยไทยเป็นประเทศนำในสาขาประมง ปฏิสัมพันธ์ระดับประชาชน และสาธารณสุข โดยแต่ละสาขาจะมีประเทศสมาชิกประเทศหนึ่งทำหน้าที่ประเทศนำ

ทั้งนี้ การประชุมผู้นำ BIMSTEC มีมาแล้ว 2 ครั้ง โดยมีการจัดการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 ที่กรุงเทพฯ และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2551 ที่กรุงนิวเดลี ซึ่งได้รับรองปฏิญญาผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 2 หรือ Second BIMSTEC Summit Declaration โดยมีสาระสำคัญ คือ

(1) ยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะดำเนินความร่วมมือในสาขาต่างๆ ในกรอบให้คืบหน้า เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค

(2) แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ต่างๆ ของโลก ทั้งวิกฤตการณ์ทางการเงินวิกฤตการณ์ทางอาหารและพลังงาน การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติและยาเสพติด รวมทั้งภาวะโลกร้อน และ

(3) แสดงความยินดีที่มีความก้าวหน้าในสาขาความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่

3.1 ความร่วมมือในด้านพลังงานและจะจัดตั้งศูนย์พลังงานที่อินเดีย

3.2 ความร่วมมือในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติในภูมิภาค และจะจัดตั้งศูนย์อากาศและภูมิอากาศที่อินเดีย

3.3 บรรลุผลสำเร็จในการเจรจายกร่างอนุสัญญาว่าด้วยการก่อการร้ายระหว่างประเทศ องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและการค้ายาเสพติด

3.4 บรรลุข้อตกลงในเรื่องการเปิดตลาดสินค้า และข้อสรุปในเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA)ในกรอบ BIMSTEC

3.5 รับทราบผลการศึกษาและข้อเสนอแนะของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมขนส่งทั้งทางบก เรือ และอากาศ เพื่อเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในภูมิภาค

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังมีความเห็นเพิ่มเติมดังนี้ (1) เห็นพ้องกันว่าการจัดตั้งสำนักเลขาธิการถาวร BIMSTEC มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในกรอบความร่วมมือต่างๆ และขณะนี้มีบังกลาเทศและศรีลังกาเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ที่ประชุมฯ มอบหมายให้ที่ประชุมรัฐมนตรีครั้งต่อไปซึ่งจะจัดขึ้นที่พม่าพิจารณาหาข้อยุติเรื่องที่ตั้งของสำนักเลขาธิการถาวรฯ (2) เห็นชอบให้มีการเพิ่มความร่วมมือในด้านภาวะโลกร้อน (climate change) เป็นสาขาที่ 14 ของกรอบความร่วมมือ BIMSTEC (3) ขอให้มีการนำข้อเสนอในการจัดตั้งศูนย์ใหม่ๆ เช่น เนปาลเสนอจัดตั้งศูนย์ท่องเที่ยวของภูมิภาค และบังกลาเทศเสนอจัดตั้งศูนย์ลดความยากจน โดยจะเสนอให้ที่ประชุมระดับรัฐมนตรี BIMSTEC ครั้งหน้าพิจารณาและมีอำนาจตัดสินใจ

ในกรอบความร่วมมือ BIMSTEC ไทยในฐานะประเทศผู้ก่อตั้งได้สนับสนุนด้านการเงินในการดำเนินงานของศูนย์ BIMSTEC ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งทำหน้าที่สำนักเลขาธิการชั่วคราว มาเป็นเวลาเกือบ 5 ปี และไทยได้ให้ทุนการศึกษาด้านสาธารณสุขแก่ประเทศสมาชิกแล้วเกือบ 900 ทุน นอกจากนี้ ในการประชุมระดับผู้นำครั้งล่าสุด ไทยได้เสนอให้ BIMSTEC เพิ่มความร่วมมือด้านฮาลาล เนื่องจากตลาดฮาลาลในโลกมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีประชากรมุสลิมจำนวน 1,800 ล้านคน ใน 148 ประเทศทั่วโลก และมูลค่าตลาดอาหารฮาลาลของโลกมีมูลค่าสูงถึง 265,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เฉพาะในประเทศอินเดียและบังกลาเทศ มีผู้บริโภคอาหารฮาลาลถึง 360 ล้านคน และหากรวมผลิตภัณฑ์อื่น อาทิ ยา และเครื่องสำอางด้วย จะมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยมีความรู้เชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านฮาลาลและพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศสมาชิกในการเพิ่มศักยภาพด้านวิชาการและเทคโนโลยี

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ