ผลการประชุมรัฐมนตรีภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 17 — 19 มิถุนายน 2552 ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี 19 มิถุนายน 2552
นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion — GMS) ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 17 — 19 มิถุนายน 2552 ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และการประชุมครั้งนี้มีรัฐมนตรีประเทศสมาชิก GMS จาก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม เข้าร่วมการประชุมฯ
กรอบความร่วมมือ GMS ก่อตั้งเมื่อปี 2535 ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา จีนตอนใต้ (ยูนนานและกวางสี) สปป. ลาว พม่า ไทยและเวียดนาม ดำเนินความร่วมมือใน 9 สาขา ได้แก่ การคมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม พลังงาน การค้า การลงทุน การเกษตร สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินและด้านวิชาการจากธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) โดยมีผลงานที่เป็นที่รู้จัก คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก — ตะวันตก (East — West Economic Corridor — EWEC) การพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ — ใต้ (North — South Economic Corridor — NSEC) และการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor — SEC) เป็นต้น
การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามที่ผู้นำได้ให้แนวทางไว้ในระหว่างการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 3 ที่เวียงจันทน์ เมื่อเดือนมีนาคม 2551 และติดตามความคืบหน้าใน 9 สาขาความร่วมมือ GMS รวมทั้งการหารือกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาเพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่ม GMS กับองค์กรระหว่างประเทศหรือประเทศที่สามารถเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาได้
นอกจากนั้น รัฐมนตรี GMS ทั้ง 6 ประเทศ ยังได้ร่วมกันหารืออย่างไม่เป็นทางการแบบตรงไปตรงมา (retreat) เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นใน 2 หัวข้อ คือ (1) การเร่งรัดการดำเนินงานตามความตกลงการขนส่งข้ามพรมแดน (Cross-Border Transport Agreement — CBTA) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้า ซึ่งได้ลงนามเรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2550 และ (2) ร่วมกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนา GMS ในระยะ 10 ปี (2555 — 2565) นอกจากนั้น ยังได้ร่วมกันหารือวิกฤติเศรษฐกิจการเงินของโลก และปัญหาที่คุกคามและประเด็นที่ท้าทาย อาทิ การแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่อุบัติใหม่ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงานของโลก
ในพิธีเปิดการประชุมฯ รัฐมนตรี GMS ของฝ่ายไทยในฐานะประธานในที่ประชุมได้ย้ำถึงการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการดำเนินการให้มีผลในเชิงเศรษฐกิจในลักษณะ Public — Private Partnership (PPP) และได้เสนอให้มีการจัดประชุมระหว่างภาคเอกชนของทั้ง 6 ประเทศ (Business Forum) ในลักษณะคู่ขนานกับการประชุมระดับรัฐมนตรี และเห็นด้วยว่าการส่งเสริมบทบาทของส่วนราชการและภาคเอกชนในท้องถิ่นมีส่วนสำคัญในการสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนตามแนวพื้นที่ชายแดน
นอกจากการประชุมระหว่างรัฐมนตรีแล้ว รัฐมนตรีทั้ง 6 ประเทศได้อนุมัติผลการศึกษาจำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ — ใต้ (NSEC) (2) ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก — ตะวันตก (EWEC) (3) ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอนุภูมิภาค (4) แนวทางการดำเนินการขยายความร่วมมือด้านพลังงานของอนุภูมิภาค และ (5) แนวทางการดำเนินงานด้านการลงทุนของอนุภูมิภาค และร่วมรับชมการฉายวีดีทัศน์พิธีฉลองความสำเร็จของเปิดการเดินรถระหว่างไทย — สปป. ลาว — เวียดนาม เป็นการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าตามเส้นทางแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก — ตะวันตก (EWEC) และพิธีฉลองสายส่งพลังงานในกัมพูชา มูลค่า 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่ออำนวยความสะดวกการเข้าถึงไฟฟ้า
ที่ผ่านมา ไทยได้ให้ความสำคัญแก่กรอบความร่วมมือ GMS โดยรัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและด้านวิชาการแก่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กัมพูชา ลาว และพม่า โดยที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้อนุมัติโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งล่าสุด ภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้อนุมัติ 6 โครงการ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการให้ทุนการศึกษาผ่านสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) รวมมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--