กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ ว่าได้รับรายงานจากสวนสัตว์ทารองก้าในนครซิดนีย์ ว่าช้างทองดีที่รัฐบาลไทยได้จัดส่งให้ทางออสเตรเลียนั้น ได้คลอดลูกช้างเพศผู้เมื่อเวลาประมาณ 3.30 น. ของวันที่ 4 กรกฎาคม 2552 โดยลูกช้างมีสุขภาพแข็งแรงดีและในขณะนี้อยู่ร่วมกับแม่และช้างไทยเพศเมียอีก 3 เชือก ในชั้นนี้ ทางสวนสัตว์ฯ ยังไม่เปิดให้ประชาชนเข้าชมลูกช้าง เนื่องจากต้องการให้แม่ช้างและช้างเชือกอื่นปรับตัวเข้ากับลูกช้าง ซึ่งเป็นกระบวนการตามธรรมชาติก่อน จากนั้นจึงจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อมและมรดกด้านทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมออสเตรเลียและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ได้จัดทำ MOA เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนในการอนุรักษ์สัตว์ป่า การดูแลความเป็นอยู่ของช้างและการแลกเปลี่ยนสัตว์ระหว่างสวนสัตว์ไทยกับสวนสัตว์ออสเตรเลีย รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ บุคลากร การส่งเสริมความรู้และการให้การศึกษาเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่าและวัฒนธรรม วิทยาการในการเลี้ยงดูและการดูแลความเป็นอยู่ของสัตว์ในกรงเลี้ยง ซึ่งภายใต้ MOA ดังกล่าว ฝ่ายไทยได้จัดส่งช้างให้ออสเตรเลีย 8 เชือก โดยอยู่ที่สวนสัตว์ฯ 5 เชือก เป็นช้างเพศผู้ 1 เชือก และช้างเพศเมีย 4 เชือก โดยได้เริ่มเปิดให้ประชาชนเข้าชมช้างไทยมาตั้งแต่ต้นปี 2549
ที่ผ่านมา สถานกงสุลใหญ่ฯ มีความร่วมมือและประสานงานกับสวนสัตว์ทารองก้าอย่างใกล้ชิด และได้ตรวจเยี่ยมสภาพความเป็นอยู่ของช้างไทยอย่างสม่ำเสมอ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ช้างไทยทั้ง 5 เชือก (กุ้ง แตงโม ทองดี ผักบุ้ง และพรทิพย์) มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง โดยสวนสัตว์ฯ ได้จัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ อย่างครบถ้วนเพื่อให้ช้างมีสภาพความเป็นอยู่อย่างเป็นธรรมชาติใกล้เคียงกับประเทศไทยมากที่สุด อาทิ การสร้างโรงช้างที่มีหลังคาและเครื่องทำความร้อน การสร้างน้ำตกและสระน้ำที่มีการปรับอุณหภูมิให้อุ่นอยู่ตลอดเวลา มีการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด มีการอาบน้ำให้ช้างทุกวัน รวมทั้งมีการสั่งซื้อพืชและผลไม้ที่เป็นอาหารตามธรรมชาติของช้างมาจากรัฐอื่นๆ ด้วย โดยในแต่ละปี สวนสัตว์ฯ ต้องใช้งบประมาณในการดูแลช้างถึง 100,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย / เชือก หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 2.8 ล้านบาท / เชือก / ปี
การขยายพันธุ์ช้างถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าซึ่งสวนสัตว์ฯ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการผสมพันธุ์ช้างไทยจนคลอดลูกช้างสำเร็จตามที่เป็นข่าว ช้างเพศเมียที่คลอดลูกในครั้งนี้คือช้างพัง “ทองดี” ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของสวนสัตว์ฯ ได้ตรวจดูอาการของช้างทองดีมาอย่างใกล้ชิดมาตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์
ในโอกาสนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้หารือกับสวนสัตว์ฯ เกี่ยวกับกิจกรรมที่จะจัดร่วมกันในโอกาสที่ลูกช้างเกิดในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญของไทยและออสเตรเลีย เนื่องจากเป็นลูกช้างเอเชียเชือกแรกที่เกิดบนแผ่นดินของทวีปออสเตรเลีย โดยในชั้นนี้ได้เตรียมกิจกรรมไว้ 2 กิจกรรม ประกอบด้วย
1. การแข่งขันประกวดตั้งชื่อลูกช้าง ซึ่งจะมีรางวัลสำหรับผู้ชนะเป็นตั๋วเครื่องบินไป-กลับ กรุงเทพฯ — เชียงใหม่ รวมทั้งแพคเกจเที่ยวเชียงใหม่และกรุงเทพฯ พร้อมที่พัก รวมทั้งแพคเกจค้างคืนแบบ home stay ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยที่จังหวัดลำปาง พร้อมเข้าหลักสูตรฝึกเป็นควานช้างเป็นเวลาสองวันอีกด้วย ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากบริษัทการบินไทยและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
2. การจัดพิธีทำบุญรับขวัญลูกช้าง โดยจะนิมนต์พระสงฆ์ไทยในนครซิดนีย์มาสวดทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลกับลูกช้าง โดยจะใช้พื้นที่ในบริเวณศาลาไทย ซึ่งรัฐบาลไทยได้สร้างให้สวนสัตว์ฯ เมื่อปี 2548
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2552 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งอยู่ในระหว่างการเดินทางเยือนนครซิดนีย์ เพื่อพบปะและสร้างความเชื่อมั่นกับนักธุรกิจที่สนใจทำการค้าและลงทุนในประเทศไทย ได้เยือนสวนสัตว์ฯ เพื่อเยี่ยมช้างไทยและลูกช้างแรกเกิดดังกล่าวด้วย
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--