ภาพรวม การประชุมรมต.ต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 และการประชุมความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 16 ที่ จ.ภูเก็ต

ข่าวต่างประเทศ Monday July 20, 2009 13:27 —กระทรวงการต่างประเทศ

ภาพรวม การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 การประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และการประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 16 17-23 กรกฎาคม 2552 ที่ จ. ภูเก็ต

1) ความสำคัญ ? เป็นการประชุมประจำปีของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจาที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประเทศในเอเชียแปซิฟิก โดยมีประเทศเข้าร่วมรวม 26 ประเทศ และ 1 องค์กร ประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ประเทศคู่เจรจา 9 ประเทศและ 1 องค์กร (สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี รัสเซีย อินเดีย และสหภาพยุโรป) และประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอีก 7 ประเทศ (ปาปัวนิวกินี มองโกเลีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ปากีสถาน ติมอร์-เลสเต บังกลาเทศ และศรีลังกา) ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศปาปัวนิวกินีและติมอร์-เลสเต จะได้รับเชิญเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์พิเศษ (Special Observer) และแขกพิเศษของประธานอาเซียน (Special Guest of the Chair) ตามลำดับ ? เป็นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาครบทุกประเทศอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ภายหลังการมีผลใช้บังคับของกฎบัตรอาเซียน โดยนาง Hilary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ตอบรับเข้าร่วมการประชุมฯ ด้วยแล้ว ? คาดว่า จะมีผู้แทนประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุมฯ รวมประมาณ 1,200 คน และมีสื่อมวลชนทั้งจากไทยและต่างประเทศร่วมติดตามเสนอข่าวการประชุมกว่า 1,000 ราย ดังนั้น ความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ในครั้งนี้ จะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นที่ประเทศต่าง ๆ มีต่อไทยในฐานะประธานอาเซียนภายหลังการเลื่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ที่พัทยา รวมทั้ง จะช่วยเส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติด้วย

2) การประชุมที่สำคัญ ? การประชุมระดับรัฐมนตรีมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 19 การประชุม แบ่งเป็น 3 เวทีที่สำคัญ คือ (1) การประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนด้วยกันเอง 6 การประชุม ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ จะปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมทั้งหมด (2) การประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (Post Ministerial Conferences - PMC) 12 การประชุม โดยรัฐมนตรีว่าการฯ จะต้องเป็นประธานร่วมในการประชุม PMC+1 กับออสเตรเลียในฐานะประเทศผู้ประสานงาน และเข้าร่วมการประชุม PMC+1 กับสหรัฐฯ และแคนาดาในฐานะอดีตผู้ประสานงานและอนาคตผู้ประสานงานตามลำดับ รวมทั้ง อาจพิจารณาเข้าร่วม การประชุม PMC+1 กับรัสเซียและจีน (3) การประชุมกับประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ภายใต้กรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum —ARF) ? นอกจากนี้ ไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพ ยังได้รับการร้องขอจากสหรัฐฯ ให้จัดการประชุมหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศไทย สหรัฐฯ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ด้วย ? กำหนดการประชุมระดับรัฐมนตรีเริ่มด้วยการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคณะทำงานระดับสูงเพื่อยกร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน (High Level Panel on the ASEAN Human Rights Body) และคณะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระดับสูงว่าด้วยกฎบัตรอาเซียน (High Level Legal Experts’ Group on the ASEAN Charter) ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2552 โดยรัฐมนตรีต่างประเทศจะให้การรับรองร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน เพื่อให้สามารถประกาศจัดตั้งองค์กรฯ ได้ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ในเดือนตุลาคม 2552 รวมทั้งจะรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นด้านกฎหมายภายใต้กฎบัตรฯ เช่น การให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่เจ้าหน้าที่ของอาเซียนและการพัฒนากลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียน เป็นต้น ? วันที่ 20 กรกฎาคม เป็นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 โดยนายกรัฐมนตรีจะร่วมกล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุม ? วันที่ 21 กรกฎาคม เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีของอาเซียน รวม 3 การประชุม ได้แก่ o การประชุมคณะมนตรีสนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ Commission) o การประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community — APSC) ครั้งที่ 2 o การประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ASEAN Coordinating Council—ACC) ครั้งที่ 4 ? การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา จะจัดในวันที่ 22 กรกฎาคม ประกอบด้วย o การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน+3 o การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) o การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาเป็นรายประเทศ รวม 9 ประเทศ กับ 1 กลุ่มประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น แคนาดา สาธารณรัฐเกาหลี จีน นิวซีแลนด์ อินเดีย สหรัฐฯ รัสเซีย และสหภาพยุโรป โดยสหรัฐฯ จะภาคยานุวัตรเพื่อเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) ในระหว่างการประชุม PMC+1 ระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ ด้วย ? วันสุดท้าย คือ การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) ครั้งที่ 16

3) สาระสำคัญของการประชุม ? จะมีการหารือในประเด็นที่เกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ภายในปี 2558 ตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้ในกฎบัตรฯ และการแก้ไขปัญหาของประชาชน ได้แก่

วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินโลก (โดยจะผลักดันการเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินในภูมิภาคภายใต้กรอบข้อริเริ่มเชียงใหม่ให้เป็นกลไกพหุภาคี และขยายวงเงินจาก 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน สิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ ตลอดจนการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ โดย ‘ต่อยอด’ จากผลการประชุม

สุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่ชะอำ-หัวหิน และปูทางเพื่อผลักดันให้บรรลุผลในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนตุลาคม 2552 ภายใต้ theme ‘Acting Together to Cope with Global Challenges’ (ร่วมกันเพื่อเผชิญกับปัญหาท้าทายโลก) ? เอกสารสำคัญที่จะมีการลงนามหรือรับรองในระหว่างการประชุมฯ ครั้งนี้ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 24 รายการ ที่สำคัญ ได้แก่ o แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 (Joint Communique of the 42nd ASEAN Ministerial Meeting) o ขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน (Terms of Reference of the ASEAN Human Rights Body) o แผนงานอาเซียนว่าด้วยการคงไว้และยกระดับความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน (ASEAN Work Plan on Maintaining and Enhancing ASEAN Centrality) o ถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ของที่ประชุมอาเซียนว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF Vision Statement) o บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลออสเตรเลียกับรัฐบาลของประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ว่าด้วยโครงการความร่วมมือการพัฒนาระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย ระยะที่ 2 (MoU on ASEAN-Australia Development Cooperation Programme II) o ปฏิญญาร่วมว่าด้วยความป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มพูนระหว่างอาเซียนกับแคนาดา (Joint Declaration on ASEAN-Canada Enhanced Partnership) o เอกสารว่าด้วยการจัดลำดับความสำคัญของความร่วมมือภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มพูนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ (Priorities for Cooperation under the ASEAN-US Enhanced Partnership)

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ