เอกสารผลลัพธ์ สำหรับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 / การประชุมระดับรัฐมนตรีกับประเทศคู่เจรจา / การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 16 17-23 กรกฎาคม 2552 ที่จังหวัดภูเก็ต
ในระหว่างวันที่ 17-23 กรกฎาคม 2552 คาดว่า ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของอาเซียน ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และที่ประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะมีการลงนาม/รับรอง/ให้ความเห็นชอบเอกสารที่จะเป็นผลลัพธ์การประชุมทั้งหมดกว่า 20 ฉบับ (รายละเอียดตามเอกสารแนบ) โดยในจำนวนนี้ ฉบับที่สำคัญสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะรับรองแถลงการณ์ร่วมในวันที่ 20 กรกฎาคม 2552 — แถลงการณ์ร่วมจะสรุปสาระสำคัญของการหารือ และไทยในฐานะประธานอาเซียนและเจ้าภาพจัดประชุมฯ มีภารกิจในการยกร่าง โดยสะท้อนถึงประเด็นสำคัญที่เป็นผลประโยชน์ของไทย ประชาชนชาวไทยและอาเซียนโดยรวม ได้แก่ (1) การผลักดันการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎบัตรอาเซียนและการจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 เช่น การจัดตั้งกลไกด้านสิทธิมนุษยชนอาเซียน การลดช่องว่างการพัฒนาในภูมิภาค และการเสริมสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ ความมั่นคง การพัฒนา และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคมภายใต้การดำเนินการตามแผนงานสำหรับการจัดตั้งประชาคมอาเซียนทั้งสามเสาหลัก ได้แก่ด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม (2) ผลักดันความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อประชาชน ได้แก่ การบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจและการเงินของโลก การเสริมสร้าง ความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร การป้องกันและควบคุมโรคระบาด ตลอดจนการจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ (3) การส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน
2. ขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะรับรองในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2552 — เป็นข้อตกลงลูกที่จัดทำขึ้นตามพันธกรณีตาม ข้อ 14 ของกฎบัตรอาเซียน มีสาระกำหนดวัตถุประสงค์หลักการอำนาจหน้าที่องค์ประกอบ และวิธีการดำเนินงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งมีหน้าที่หลักคือการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยการสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนในหมู่ประชาชน การสร้างเสริมศักยภาพของรัฐ การพัฒนาบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค การจัดทำรายงานด้านกิจกรรมและประเด็นเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชน การรับข้อมูลจากประเทศสมาชิก การให้คำปรึกษาแก่องค์กรอาเซียนและการปรึกษาหารือกับหน่วยงานของรัฐ ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดให้มีการทบทวนร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ฯ เมื่อครบกำหนด 5 ปีนับจากวันที่มีผลบังคับใช้เพื่อเปิดช่องให้มีการพัฒนาองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนต่อๆ ไปได้ ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีเคยเสนอกรอบการเจรจาของร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ดังกล่าวให้ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาพิจารณา ซึ่งที่ประชุมร่วมของรัฐสภาเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์2552 ได้ให้ความเห็นชอบต่อกรอบการเจรจาดังกล่าวแล้ว
3. ถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ของที่ประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ARF จะรับรองเอกสารในช่วงการประชุม ARF ครั้งที่ 16 ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2552 - เป็นเอกสารริเริ่มโดยประเทศไทยในฐานะประธานการประชุม ARF ปัจจุบันที่กำหนดแนววิธีการ การยกระดับความร่วมมือเพื่อการปฏิบัติการ และการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงที่ครอบคลุมทุกมิติของประเทศผู้เข้าร่วมการประชุม ARF เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือนี้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
4. เอกสารว่าด้วยการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) ของสหรัฐฯ — เอกสารฉบับนี้เป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่จะทำให้สหรัฐฯ สามารถเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความร่วมมืออย่างยั่งยืนของประเทศในภูมิภาคและประเทศที่เข้าร่วมฯ ได้อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาฯ ของสหรัฐฯ มีนัยถึงการที่สหรัฐฯ จะให้การยอมรับและปฏิบัติตามหลักการต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในสนธิสัญญาฯ ซึ่งจัดทำโดยอาเซียน อาทิ (1) การเคารพในอำนาจอธิปไตยความเสมอภาคและบูรณภาพแห่งดินแดน (2) การไม่แทรกแซงกิจการภายใน (3) การแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี (4) การไม่ใช้หรือขู่ว่าจะใช้กำลัง และ (5) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน รวมทั้งมีมาตราเกี่ยวกับแนวทางการยุติข้อพิพาทโดยสันติวิธีโดยอาศัยกลไกคณะอัครมนตรี (High Council) เพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันโครงสร้างการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ปรับเปลี่ยนไป ประเทศในภูมิภาคใกล้เคียง เช่นจีน และอินเดีย มีบทบาทมากขึ้น อาเซียนจึงมีความจำเป็นต้องจัดทำแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการเกี่ยวกับการที่ประเทศต่างๆ นอกภูมิภาคอาเซียน จะเข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือฯ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการเมืองในภูมิภาคปัจจุบัน
5. แผนงานสำหรับการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2552-2553 ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ARF จะรับรองเอกสารในที่ประชุม ARF ครั้งที่ 16 ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2552 - เป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวของที่ประชุม ARF ในด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติที่ครอบคลุมทุกมิติและมีความเชื่อมโยงกับเวทีอื่นนอกภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับยาเสพติด การก่อการร้ายทางชีวภาพ
และความมั่นคงทางชีวภาพ และความมั่นคงทางคอมพิวเตอร์และการก่อการร้ายทางคอมพิวเตอร์
6. แผนงานสำหรับการบรรเทาภัยพิบัติ พ.ศ.2552-2554 ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ARF จะรับรองในที่ประชุม ARF ครั้งที่ 16 ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2552 - เป็นเอกสารเพื่อเตรียมความพร้อม โดยการเสริมสร้างการประสานงาน การเชื่อมโยงความพยายาม การสนับสนุนความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของประเทศผู้เข้าร่วมการประชุม ARF ในการบรรเทาภัยพิบัติให้ทันต่อเหตุการณ์และดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังเหตุการณ์
7. ระเบียบการปฏิบัติของคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน - ตามกฎบัตรอาเซียน คณะมนตรีประชาคมอาเซียนจัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลการปฏิบัติงานของแต่ละเสาของประชาคมอาเซียนให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 ซึ่งในส่วนของคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงจะประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนทุกประเทศ ซึ่งจากการประชุมของคณะมนตรีครั้งที่ 1 ได้ให้สำนักเลขาธิการอาเซียนจัดทำเอกสารแนวทางปฏิบัติเพื่อการทำงานที่เป็นระบบการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะกำหนดวิธีการทำงานของคณะมนตรีฯ เช่น การดำเนินการประชุม องค์ประชุม วิธีการหารือ และวิธีร่วมประชุมกับคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจหรือคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งจัดทำกลไกการรายงานและการสั่งการ
8. เอกสารแนวปฎิบัติเพื่อเป็นภาคีสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค.ศ.1976 ซึ่งจะมีการรับรองโดยรัฐมนตรีต่างประเทศในวันที่ 20 กรกฎาคม 2552 — เดิมสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดทำขึ้นโดยประเทศสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ (อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงค์โปร์ และไทย) เมื่อปี 2519 เพื่อกำหนดหลักการดำเนินความสัมพันธ์ในภูมิภาค ซึ่งโดยที่ในปัจจุบันโครงสร้างการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ปรับเปลี่ยนไป ประเทศในภูมิภาคใกล้เคียง เช่นจีน และอินเดีย มีบทบาทมากขึ้น อาเซียนจึงมีความจำเป็นต้องจัดทำแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการเกี่ยวกับการที่ประเทศต่างๆ นอกภูมิภาคอาเซียน จะเข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือฯ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการเมืองในภูมิภาคปัจจุบัน
9. แผนงานอาเซียนว่าด้วยการคงไว้และยกระดับความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน — เป็นเอกสารเพื่อให้อาเซียนคงไว้ซึ่งการเป็นศูนย์กลางและเป็นผู้ขับเคลื่อนสภาพยุทธศาสตร์ทางภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วยแผนงาน การระดมทรัพยากรเพื่อดำเนินการตามแผนงาน และการติดตามและรายงานการดำเนินการ รวมทั้งเป้าหมายและแนวทางทางยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน
(รายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงเอกสารฉบับเต็มของเอกสารข้างต้นบางฉบับ สามารถสือค้นได้ทางเว็บไซต์ www.42ammpmc.org)
รายการเอกสารผลลัพธ์
สำหรับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42/การประชุมระดับรัฐมนตรีกับประเทศคู่เจรจา/ การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 16
17-23 กรกฎาคม 2552 ที่จังหวัดภูเก็ต
1. เอกสารรับรองโดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
1.1 แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42
1.2 แผนงานอาเซียนว่าด้วยการคงไว้และยกระดับความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน
1.3 เอกสารแนวปฏิบัติเพื่อเป็นภาคีสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค.ศ.1976
1.4 ขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน
1.5 ระเบียบการปฏิบัติของคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
1.6 ระเบียบการปฏิบัติของคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน
1.7 เอกสารแนวปฏิบัติเพื่อรับเอกอัครราชทูตของรัฐที่ไม่ใช่สมาชิกอาเซียนและองค์การระหว่างรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง
2. เอกสารรับรองโดยรัฐมนตรีต่างประเทศในการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
2.1 ถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ของที่ประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย — แปซิฟิก
2.2 เอกสารแนวปฎิบัติเพื่อเป็นภาคีสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค.ศ.1976
2.3 แผนงานสำหรับการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2552 — 2553
2.4 แผนงานสำหรับการบรรเทาภัยพิบัติ พ.ศ. 2552 — 2554
2.5 รายงานประจำปีประเมินสถานการณ์และทิศทางด้านการเมืองและความมั่นคงของการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF Annual Security Outlook)
2.6 รายงานการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศที่เข้าร่วมในการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
3. เอกสารลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ
3.1 บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลออสเตรเลียกับรัฐบาลของประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยโครงการความร่วมมือการพัฒนาระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย ระยะที่ 2
4. เอกสารสำหรับการประชุมกับประเทศคู่เจรจารับรองโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ
4.1 ปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มพูนระหว่างอาเซียนกับแคนาดา
4.2 การจัดลำดับความสำคัญของความร่วมมือภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มพูนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา
5. เอกสารออกโดยไทยในฐานะประธานอาเซียนและการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
5.1 แถลงการณ์ของประธานอาเซียนว่าด้วยการประชุมระดับรัฐมนตรีกับประเทศคู่เจรจา
5.2 แถลงการณ์ของประธานว่าด้วยการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 16
5.3 แถลงการณ์ของประธานว่าด้วยการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 10
5.4 แถลงการณ์ของประธานว่าด้วยการหารืออย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก
6. เอกสารสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ
6.1 เอกสารว่าด้วยการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) ของสหรัฐฯ
7. เอกสารลงนามโดยเลขาธิการอาเซียน
7.1 บันทึกความช่วยจำว่าด้วยการการจัดตั้งศูนย์อาเซียนในกรุงมอสโก
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--