การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum — ARF) ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2537 เพื่อแยกการหารือด้านการเมืองและความมั่นคงระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาในการประชุมระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาเป็นรายคู่เจรจา (Post-Ministerial Conferences - PMC) ออกเป็นเวทีเฉพาะสำหรับการหารือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคโดยเฉพาะ ทั้งนี้ เพื่อให้อาเซียนและคู่เจรจาสามารถหารือประเด็นเหล่านี้ในรายละเอียดและได้ผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน ARF มีประเทศเข้าร่วม 26 ประเทศกับ 1 กลุ่มประเทศ ประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ คู่เจรจาของอาเซียน (Dialogue Partners) 9 ประเทศกับอีก 1 กลุ่มประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย อินเดียและ สหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอีก 7 ประเทศที่มิได้เป็นคู่เจรจาอาเซียน ได้แก่ เกาหลีเหนือ ปากีสถาน ติมอร์-เลสเต มองโกเลีย ศรีลังกา บังกลาเทศ และปาปัวนิวกินี ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบสมาชิก จะเห็นได้ว่า ประเทศที่มีบทบาทด้านการเมืองและความมั่นคงในระดับโลก สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ และประเทศที่มีบทบาทเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี ล้วนแต่เป็นสมาชิกของ ARF ทั้งสิ้น
ในการประชุมระดับรัฐมนตรีของ ARF ในปีนี้ นอกจากการพิจารณาติดตามผลการประชุมและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของ ARF ในรอบปีที่ผ่านมาแล้ว คาดว่า ประเด็นสำคัญที่ที่ประชุมฯ จะให้ความสำคัญ ได้แก่ การกำหนดทิศทางการพัฒนาและเสริมสร้างให้ ARF ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในโอกาสนี้ ที่ประชุมฯ จะให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมหลายฉบับ อาทิ ถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ของที่ประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย — แปซิฟิก แผนงานของ ARF ว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2552 — 2553 และแผนงานของ ARF ว่าด้วยการความร่วมมือเพื่อบรรเทาภัยพิบัติ พ.ศ. 2552 — 2554 เป็นต้น
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--