คำกล่าวเปิดการประชุมรมต.ต่างประเทศอาเซียนของนายกรัฐมนตรี(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)

ข่าวต่างประเทศ Monday July 20, 2009 14:26 —กระทรวงการต่างประเทศ

ถ้อยแถลงโดย ฯพณฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย พิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 วันที่ 20 กรกฎคม 2552 ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ ลากูน่า จังหวัดภูเก็ต

ฝ่าพระบาท,

รัฐมนตรี,

เลขาธิการอาเซียน,

ฯพณฯ ท่าน,

แขกผู้มีเกียรติ,

สุภาพบุรุษและสุภาพสตรี

1. ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับทุกท่านสู่การประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ครั้งที่ 42 และสู่เกาะภูเก็ตซึ่งได้รับการขนานนามว่า “ไข่มุกแห่งอันดามัน”

2. เรามารวมตัวกันวันนี้ในเมืองและจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน จากเมืองที่เติบโตจากการทำเหมืองมาสู่สถานที่ท่องเที่ยวอันโด่งดังของโลก เป็นจังหวัดซึ่งได้รับมือกับผลจากอำนาจการทำลายล้างของคลื่นยักษ์สึนามิในปี 2547 และสามารถกลับมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้งด้วยการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างที่เราเห็นกันอยู่ในขณะนี้ ดังนั้น จึงน่าจะเป็นการเหมาะสมที่เราจะแสดงความยินดีกับชาวภูเก็ตที่ได้ปรับรับกับสถานการณ์ได้อย่างยอดเยี่ยมและนำมาซึ่งความสำเร็จ และขอบคุณชาวภูเก็ตสำหรับการต้อนรับอันอบอุ่น

สุภาพบุรุษและสุภาพสตรี

3.ทั้งอาเซียน และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงที่คล้ายคลึงกันในช่วง 42 ปีที่ผ่านมา ภูมิภาคของเราเคยเป็นภูมิภาคที่ถูกแบ่งแยกโดยอุดมการณ์การทางการเมือง แต่ในตอนนี้เราทั้ง 10 ประเทศกำลังมุ่งหน้าสู่การเป็นประชาคมซึ่งมีจุดประสงค์ร่วมกัน

4.ในฐานะภูมิภาค เราได้เผชิญหน้ากับความท้าทายมากมาย ตั้งแต่การเป็นเวทีจากสงครามเย็นสู่ปี 2540 ที่วิกฤตเศรษฐกิจได้เริ่มขึ้น และจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิสู่การระบาดของโรคซารส์ ไข้หวัดนก ฯลฯ

5.แต่ในแต่ละครั้ง แต่ละสถานการณ์ เราก็สามารถเผชิญหน้า และผ่านพ้นเหตุการณ์เหล่านั้นมาได้ร่วมกัน เราได้พิสูจน์ความสามารถในการปรับรับสถานการณ์ต่าง ๆ ของเราครั้งแล้วครั้งเล่า และขณะนี้เราก็กำลังอยู่บนเส้นทางสู่การจัดตั้งประชาคมซึ่งจะทำให้เรามีความสามารถในการแข่งขัน มีบทบาท และความเอื้ออาทรต่อประชาชนของเรามากยิ่งขึ้น

สุภาพบุรุษและสุภาพสตรี

(การเป็นประธานอาเซียนของไทย — ตั้งเป้าหมาย และมีความก้าวหน้า)

6.การมารวมตัวกันของเราในฐานะประชาคมของชาติและประชาชนที่หลากหลายเพื่ออนาคตที่ดีกว่าได้แสดงให้เห็นถึงใจความสำคัญของภารกิจภายใต้การเป็นประธานของไทย

7.เมื่อไทยได้รับมอบการเป็นประธานในเดือนกรกฎาคม 2551 เราได้ตั้งเป้าหมายไว้ 3 เป้าหมาย และด้วยความร่วมมือและการดำเนินการร่วมกัน เรากำลังเข้าใกล้การบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น

8.หนึ่ง เรากำลังดำเนินการตามกฎบัตรอาเซียนเพื่อทำให้ประชาคมของเราอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกามากยิ่งขึ้น

9.เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ เราได้สร้างกลไกการระงับข้อพาทภายใต้กฎบัตร พัฒนาหน่วยงานใหม่ภายใต้อาเซียนซึ่งรวมถึงคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา จัดตั้งให้มีคณะมนตรีประชาคมต่าง ๆ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการผลักดันกระบวนการสร้างประชาคมภายใต้แผนงานสำหรับประชาคมอาเซียน

10.สอง เรากำลังสร้างอาเซียนที่ให้ความสำคัญกับประชาชนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้อาเซียนอยู่เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

11.ที่อำเภอชะอำ หัวหิน ผู้นำอาเซียนและผมได้พบกับผู้แทนจากภาคเอกชน เยาวชน รัฐสภา และภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะให้ภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมในทุกระดับมีส่วนร่วม และเสริมสร้างความรู้สึกของการเป็นประชาชนอาเซียนที่หนักแน่นขึ้นโดยการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจภายในอาเซียน

12.เพื่อปกป้องประชาชนของเรา เราได้เดินมาถูกทางและตรงตามเวลาในการเริ่มการดำเนินงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่จะมีขึ้นในเดือนตุลาคมศกนี้ ผมยินดีที่รัฐมนรีต่างประเทศอาเซียนได้พิจารณาร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนเสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อวานนี้แล้ว

13. สาม เราจะทำให้อาเซียนมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในภูมิภาคและโลก และในการดำเนินการนี้ เราจะทำงานร่วมกับมิตร และหุ้นส่วนของเราในประชาคมระหว่างประเทศ

14.ในอดีต อาเซียนได้มีความพยายามร่วมกันมากมายเพื่อให้แน่ใจว่าความมั่นคงทางมนุษย์และการพิทักษ์ความเป็นดีอยู่ดี สวัสดิการของประชาชนในภูมิภาคของเรา ในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ เราตกลงกันที่จะทำให้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่เป็นพหุภาคี ยืนยันอย่างหนักแน่นที่จะต่อต้านลัทธิการกีดกันทางการค้า และทำงานอย่างใกล้ชิดกับมิตรของเราในประชาคมระหว่างประเทศ เช่น มิตรในกลุ่มประเทศ G-20 เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เราตอบสนองต่อวิกฤตร่วมกันอย่างรวดเร็ว ในขณะนี้ โลกกำลังจับตามองอาเซียนอย่างใกล้ชิด และมีความคาดหวังที่จะให้เราเป็นขั้วผลักดันการเติบโตสำหรับเศรษฐกิจโลกในช่วงวิกฤตนี้

15.มีการคาดว่าประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหารและพลังงานจะกลายมาเป็นข้อห่วงกังวลที่สำคัญของเราอีกครั้งเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นฟูขึ้น และเราในอาเซียนได้ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อเตรียมการสำหรับเรื่องนี้ ตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งคือ การทำให้กลไกถาวรระบบสำรองในกรอบอาเซียนบวกสามในภูมิภาค และงานของเราในการเสริมสร้างความร่วมมือทางพลังงานในเรื่องความมั่นคงและความยั่งยืนทางพลังงาน

16.ในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ เอ (เอชวันเอ็นวัน) หรือ(ไข้หวัด 2009) รัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกสามได้ประชุมสมัยพิเศษ และในตอนนี้ เราแสวงหาทางที่จะต่อยอดเพื่อยกระดับความร่วมมือในการผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เอที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้โดยมีความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก

สุภาพบุรุษและสุภาพสตรี

(มองไปสู่อนาคต)

17.ในเดือนตุลาคม. ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราหวังที่จะได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมสำหรับการบรรลุเป้าหมายร่วมของประชาคมของเรา และในเดือนธัวาคมศกนี้ เราจะส่งมอบตำแหน่งประธานให้กับเวียดนามซึ่งถึงวาระที่จะเป็นประธานอาเซียน

18.อาเซียนจะมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมในปี 2558 ต่อไป และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ เราควรที่จะเริ่มคิดถึงภาพของประชาคมที่เราอย่างจะเห็น และในภูมิภาคที่มีความหลากหลายอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ผมมั่นใจว่า ความคิดของเราคงจะแตกต่างกัน แต่ผมหวังว่า ระหว่างการเดินทางของเราสู่ปี 2558 ความคิดของเราจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

19.ในมุมมองของไทย ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ควรที่จะเป็น “ประชาคมแห่งการปฏิบัติ”

20.อาเซียนจะต้องสามารถปฏิบัติการได้อย่างเด็ดขาดและทันท่วงทีในการรับมือกับภัยคุกคามและความท้าทายทั้งภายในและภายนอกที่มีต่อความมั่นคง และความเป็นอยู่ที่ดีของรัฐสมาชิกและประชาชน การดำเนินการที่มีประสิทธิภาพจะต้องเข้ามาแทนที่คำพูดปากเปล่า เราจะต้องแสดงให้โลกได้เห็นว่า อาเซียนพร้อมที่จะบรับมือกับความท้าทายและมีความพร้อมที่จะดำเนินการอย่างเฉียบขาด

21.ตัวอย่างเช่น ถ้าหากมีการระบาดใหญ่ของโรคทั่วทั้งภูมิภาค หน่วยงานสาธารณสุขของเราต้องสามารถที่จะให้มีมาตรการกักกันและตรวจสอบ การแลกเปลี่ยนข้อมูลและผลจากห้องทดลอง การระดมอาสาสมัครและวัคซีนทั่วทั้งภูมิภาคผ่านกระบวนการและความร่วมมือร่วมกันที่สามารถปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว

22.หรือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในหรือนอกภูมิภาคของเราและมีการร้องของความช่วยเหลือ อาเซียนจะต้องสามารถตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

23.สอง ประชาคมในปี 2558 ควรที่เป็น “ประชาคมเห่งการติดต่อเชื่อมโยง”

24.หมายถึงสินค้าและประชาชน การลงทุนและข้อริเริ่ม สามารถที่จะดำเนินการอย่างไม่มีอุปสรรคได้ทั่วทั้งภูมิภาค จากสุมาตราถึงลูซอน จากปากแม่น้ำอิรวดีถึงปากแม่น้ำโขง การบูรณาการทางเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์โดยเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมจำเป็นที่ต้องมีการติดต่อเชื่อมโยงทั้งทางด้านโครงสร้างพื้นฐานตลอดจนกฎหมายและระเบียบกติกาต่าง ๆ

25.ในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน ตัวอย่างเช่น จะต้องการเชื่อมต่อทางด้านการคมนาคมขนส่งที่สะดวกต่อผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ เส้นทางเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา หรือการเชื่อมต่อด้านการคมนาคมขนส่งทางอากาศระหว่างท่าอากาศยานต่าง ๆ ทั่วภูมิภาค

26. ในด้านโครงสร้างกฎหมายและระเบียบกติกา ควรจะต้องมีการประสานกันของกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ใช้ควบคุมการคมนาคมขนส่ง การค้า และการลงทุนทั่วทั้งภูมิภาค เราจะต้องทำให้ภายในภูมิภาคของเราปราศจากการตรวจลงตรา และให้มีการตรวจลงตราร่วมของอาเซียนให้กับผู้ที่มาจากภายนอกอาเซียน

27.ประชาคมที่มีการติดต่อเชื่อมโยงที่ดีเท่านั้นที่จะทำให้เราสามารถใช้ศักยภาพทางเศรษฐกิจของเราได้อย่างเต็มที่และในขณะเดียวกันก็ใช้ข้อได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ที่ตั้งของเราซึ่งเป็นประตูเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างเอเชียใต้ทางด้านตะวันตกของเราและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือทางด้านเหนือของเราได้อย่างเต็มที่

28.สาม ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ควรเป็น “ประชาคมของประชาชน”

29.ประชาชนของอาเซียนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของอาเซียน เราต้องทำให้แน่ใจว่า พวกเขามีช่องทางที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาบุคคล และเราควรดำเนินการดังกล่าวโดยการ

ส่งเสริมและลงทุนในด้านการศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเสริมสร้างศักยภาพในด้านอื่นๆ นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า การลงทุนระยะยาวเพื่ออนาคตของประชาคม ซึ่งจะช่วยทำให้กระบวนการสร้างประชาคมยั่งยืนต่อไป

30.บูรณาการในภูมิภาคจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อประชาชนของเรามีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์ โลกาภิวัฒน์จะเป็นผลดีหากเพียงประชาชนในภูมิภาครู้จักแข่งขัน เตรียมความพร้อม ตลอดจนสามารถได้ประโยชน์ และประชาคมอาเซียนจะพึ่งพาตนเองได้ก็ต่อเมื่อประชาชนอาเซียนเป็นพลังขับเคลื่อน และเป็นผู้ได้รับประโยชน์

สุภาพบุรุษและสุภาพสตรี

31.ข้าพเจ้ามีเรื่องที่จะขอฝากกับทุกคนไว้ก่อนจบสุนทรพจน์นี้ คือ เป้าหมายของเราที่เราใฝ่ฝันอยากจะให้ภูมิภาคของเราเป็นภูมิภาคที่ประกอบไปด้วยผู้คนที่หลากหลายและมีความศรัทธาและความเชื่อที่แตกต่างกัน แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมเกลียว ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เราชื่นชมและเคารพในความแตกต่างทางวัฒนธรรม เราหลายประเทศเป็นส่วนหลักในเวทีระหว่างประเทศในเรื่องการสมานฉันท์ความเชื่อและอารยธรรม

32.ดังนั้น ผมหวังว่า เราจะสามารถใช้ประสบการณ์และสานต่อการสมานฉันท์ดังกล่าวระหว่างพวกเราในภูมิภาคเพื่อให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นแบบอย่างภูมิภาคแห่งความสมานฉันท์กลมเกลียวและเอกภาพในความแตกต่าง เป็นแบบอย่างที่จะนำมาซึ่งความคิดใหม่ ๆ สำหรับสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง

33.ผมขออวยพรให้การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องประสบความสำเร็จในการนำพาอาเซียนไปข้างหน้าในการสร้างประชาคมอาเซียนและความเป็นหุ้นส่วนกับประชาคมระหว่างประเทศ ขอบคุณครับ

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ