ผลการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 18

ข่าวต่างประเทศ Tuesday July 21, 2009 14:07 —กระทรวงการต่างประเทศ

ผลการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice — CCPCJ) สมัยที่ 18

สำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (United Nations Office on Drugs and Crime — UNODC) ได้จัดการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice — CCPCJ) สมัยที่ 18 ระหว่างวันที่ 16-24 เมษายน 2552 ณ Vienna International Centre กรุงเวียนนา โดยมีพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

วัตถุประสงค์หลักของ UNODC ในการจัดการประชุมคณะกรรมาธิการฯ คือ เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการอนุวัติการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและพิธีสารแนบท้าย อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต และตราสารระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการก่อการร้าย นอกจากนี้ UNODC ยังได้ใช้โอกาสการประชุมคณะกรรมาธิการฯ เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ที่ยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับต่างๆ รีบดำเนินการเข้าเป็นภาคี โดยได้จัด special treaty event เพื่อเปิดโอกาส ให้ประเทศต่างๆ ยื่นสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่างๆ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการเตรียมการและสารัตถะสำหรับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice) ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นทุก 5 ปี โดยล่าสุดสมัยที่ 11 จัดขึ้นที่ประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ. 2005 และสมัยที่ 12 กำหนดจะจัดขึ้นที่ประเทศบราซิลใน ปี ค.ศ. 2010

บทบาทของคณะผู้แทนไทย ในการประชุมคณะกรรมาธิการฯ สมัยที่ 18 นี้ คณะผู้แทนไทยเน้นสร้างความตระหนักเกี่ยวกับประเด็นการต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีและการดูแลผู้ต้องขังหญิง และให้ประเทศไทยมีบทบาทนำในเรื่องดังกล่าว โดย

1. พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงได้รับเกียรติให้กล่าวพระดำรัสในช่วงพิธีเปิดการประชุม โดยทรงเน้นความสำคัญของการดูแลผู้ต้องขังหญิง รวมทั้งเด็กติดผู้ต้องขัง และการยกร่างข้อกำหนดสหประชาชาติ สำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง รวมทั้งทรงเชิญชวนให้ประชาคมระหว่างประเทศให้ความสำคัญต่อปัญหาความรุนแรงต่อสตรี ซึ่งในเรื่องนี้ นาย Antonio Maria Costa ผู้อำนวยการบริหารของ UNODC ได้จัดพิธีทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญเกียรติยศ (Medal of recognition) ของ UNODC เนื่องจากทรงมีพระกรณียกิจเป็นที่ประจักษ์ในการต่อต้านความรุนแรงต่อสตรี

2. กระทรวงยุติธรรมได้จัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่โครงการ ELFI (Enhancing Lives of Female Inmates) ในพระดำริฯ ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมได้จัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 — 6 กุมภาพันธ์ 2552 เพื่อร่างข้อกำหนดสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่ไม่ใช้การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (Draft United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-Custodial Measures for Women Offenders)

3. คณะผู้แทนไทยได้เสนอร่างข้อมติ (draft resolution) เกี่ยวกับร่างข้อกำหนดสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงฯ ซึ่งมีสาระสำคัญอ้างถึงมาตรฐานต่างๆของสหประชาชาติที่เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังและเน้นถึงความสำคัญของการดูแลผู้ต้องขังหญิง รวมทั้งได้เสนอให้มีการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพื่อทบทวนร่างข้อกำหนดดังกล่าว ภายในปี พ.ศ.2552 โดยที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ รับรองร่างข้อมติที่ไทยเสนอโดยฉันทามติ และมีประเทศร่วมอุปถัมภ์(co-sponsor) ได้แก่ บราซิล สาธารณรัฐเช็กในนามสหภาพยุโรป สหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่น จีน ฟิลิปปินส์ เอกวาดอร์ โคลอมเบีย เวเนซูเอลา แอฟริกาใต้ และซูดาน

4. ผู้แทนไทยยังได้กล่าวถ้อยแถลงในวาระการประชุมต่างๆ โดยพันตำรวจเอกสีหนาท ประยูรรัตน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รักษาราชการแทนเลขาธิการฯ ได้รับเลือกเป็นผู้อภิปรายหลักของกลุ่มเอเชียในหัวข้อการฉ้อโกงทางเศรษฐกิจและอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ (Economic fraud and identity-related crime) และนายวิทยา สุริยะวงค์ รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้รับเลือกเป็นผู้อภิปรายหลักในหัวข้อการปฏิรูประบบการลงโทษและการลดความแออัดในทัณฑสถาน (Penal reform and the reduction of prison overcrowding, including the provision of legal aid in criminal justice systems) นอกจากนี้ ในวาระเกี่ยวกับการเข้าเป็นภาคีและอนุวัติการอนุสัญญาสหประชาชาติต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและพิธีสารแนบท้าย นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ รองอัยการสูงสุด ได้กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับความคืบหน้าของประเทศไทยในเตรียมการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว และในวาระเกี่ยวกับการปฏิรูประบบการลงโทษและการลดความแออัดในทัณฑสถาน นายอรรณพ บุราณเศรษฐ (ผู้อำนวยการกองสนธิสัญญา) ได้กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความแออัดในทัณฑสถานของประเทศไทย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ