แถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 “ร่วมกันเพื่อเผชิญกับปัญหาท้าทายโลก” ภูเก็ต ประเทศไทย วันที่ 20 กรกฎาคม 2552

ข่าวต่างประเทศ Tuesday July 21, 2009 14:18 —กระทรวงการต่างประเทศ

อารัมภบท 1. เรา รัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มาพบกันที่การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 ระหว่างวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2552 ที่จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย โดยมี ฯพณฯ กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยและประธานอาเซียน ทำหน้าที่ประธานการประชุม เราได้หารือกันอย่างกว้างขวาง เปิดกว้าง และบรรลุผลสำเร็จ ภายใต้หัวข้อหลัก “ร่วมกันเพื่อเผชิญกับปัญหาท้าทายโลก”

     2. ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทยได้กล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42  โดยได้กล่าวย้ำความจำเป็นที่รัฐสมาชิกอาเซียนจะต้องนำถ้อยคำและ        จิตวิญญาณในกฎบัตรอาเซียนมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้เป้าหมายการสร้างประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 บรรลุผล  นายกรัฐมนตรีของไทยยังได้กล่าวย้ำว่า ความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียนควรจะถูกเสริมสร้างให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อจะได้สามารถตอบสนองต่อความท้าทายในปัจจุบันและอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจและการเงิน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด  ตลอดจนประเด็นความมั่นคงอื่นๆ
การสร้างประชาคมอาเซียน
3.  เราชื่นชมความก้าวหน้าของกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะการมีผลใช้บังคับของกฎบัตรอาเซียน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 เรายืนยันความพร้อมที่จะเสริมสร้างความพยายามในการทำให้ประชาคมอาเซียนเกิดขึ้น โดยเป็นประชาคมที่มีความเป็นปึกแผ่นทางการเมือง  มีบูรณาการทางเศรษฐกิจ และรับผิดชอบต่อสังคม
4.  เราได้ทบทวนการการดำเนินงานในการสานต่อข้อตัดสินใจของผู้นำในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่อำเภอชะอำ หัวหิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้ปฏิญญาชะอำ หัวหิน ว่าด้วยแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียน ปี 2552-2558 สามารถนำไปใช้ปฏิบัติให้เกิดผล
5.  เราย้ำถึงพันธกรณีที่จะส่งเสริมการเข้าร่วมของประชาชนในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน ในการนี้ เรายินดีกับผลของการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำอาเซียนและผู้แทนจากกลุ่มต่างๆ ได้แก่ สมัชชารัฐสภาอาเซียน  เยาวชนอาเซียน และองค์กรภาคประชาสังคมอาเซียน ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่อำเภอชะอำ หัวหิน
6.  เราย้ำถึงความสำคัญของการยกระดับบทบาทความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาค ในการนี้ เราตกลงกันที่จะทบทวนความพยายามของเราในการยกระดับความสามารถในการปรับปรับตัว  ความสามารถในการแข่งขัน  และความสามารถในการตอบสนองอย่างสม่ำเสมอ เพื่ออาเซียนจะสามารถเป็นพลังขับเคลื่อนหลักในภูมิภาคของเรา

กฎบัตรอาเซียน 7. เราได้รับทราบการมีผลใช้บังคับของกฎบัตรอาเซียนด้วยความชื่นชม ในการนี้ เรายินดีกับการจัดตั้งคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา และได้รับรองกฎการดำเนินงานของคณะกรรมการผู้แทนถาวรฯ คณะกรรมการผู้แทนถาวรจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิกอาเซียน ปรับปรุงการประสานงานกับสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์ของอาเซียนกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาค นอกจากนี้ เรายินดีในการดำเนินการปรับโครงสร้างของสำนักเลขาธิการอาเซียน 8. เรายินดีกับผลสำเร็จของการประชุมร่วมกับคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งในระหว่างนั้น เราได้รับรองร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน เราตกลงที่จะตั้งชื่อองค์กรนี้ว่า “คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียน” เราชื่นชมคณะทำงานฯ ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสมบูรณ์และตกลงที่จะเสนอให้ผู้นำอาเซียนประกาศการเริ่มดำเนินงานขององค์กรนี้ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ในเดือนตุลาคม 2552 โดยเราได้มอบหมายคณะทำงานระดับสูงฯ ยกร่างปฏิญญาว่าสำหรับการประกาศเริ่มดำเนินการดังกล่าว

     9. เราชื่นชมความก้าวหน้าของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระดับสูงว่าด้วยกฎบัตรอาเซียน เราได้พิจารณาและรับรองข้อเสนอแนะของคณะผู้เชี่ยวชาญระดับสูง เกี่ยวกับนิติฐานะของอาเซียนและรับรอง ความตกลงว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของอาเซียนในลักษณะที่ต้องมาให้คำยืนยันในภายหลัง         การจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาท และประเด็นด้านกฎหมายอื่น ๆ ภายใต้กฎ

บัตรอาเซียน การลดช่องว่างทางการพัฒนาและข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน 10. เราตกลงจะเสริมสร้างความพยายามในการลดช่องว่างทางการพัฒนาในอาเซียน เพื่อส่งเสริมการ บูรณาการของอาเซียน ในการนี้ เราชื่นชมแผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ 2 (2552-2558) ซึ่งผู้นำอาเซียนได้รับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 เรารับทราบว่า แผนงานดังกล่าว รวมทั้งแผนงานประชาคมอาเซียนทั้งสามเสา จะช่วยทำให้กระบวนการสร้างประชาคมรุดหน้าต่อไปอย่างสมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน 11. เราแสดงความชื่นชมประเทศคู่เจรจาและสถาบันระหว่างประเทศต่างๆ ที่ได้ให้ความสนับสนุนและความช่วยเหลือต่อข้อริเริ่มเพื่อการร่วมตัวของอาเซียน เราเรียกร้องให้มีการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนและประเทศคู่เจรจาต่างๆ ให้มากขึ้น ในการลดช่องว่างทางการพัฒนารวมทั้งโครงการพัฒนาภูมิภาคของอาเซียน 12. เรายินดีต่อการรับรองปฏิญญาร่วมว่าด้วยการบรรลุการพัฒนาเป้าหมายแห่งสหัสวรรษของอาเซียนโดยผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ซึ่งสะท้อนความจำเป็นในการลดช่องว่างการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคและการบูรณาการของอาเซียน ประชาคมการเมืองและความมั่นคง 13. เรายืนยันพันธกรณีที่จะปฏิบัติตามแผนงานในการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ซึ่งรับรองโดยผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่อำเภอชะอำ หัวหิน แผนงานนี้มุ่งหวังให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีกฎกติกา มีค่านิยมและบรรทัดฐานร่วมกัน เป็นภูมิภาคที่มีความสัมพันธ์ที่เป็นปึกแผ่น สงบสุข มีเสถียรภาพ และมีความสามารถในการปรับตัวต่อสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งมีความรับผิดชอบร่วมกันต่อความมั่นคงอย่างรอบด้าน ตลอดจนเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตรและพร้อมที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศภายนอกภูมิภาค ในโลกที่มีบูรณาการและพึ่งพาซึ่งกันมากขึ้น เรารับทราบว่า แผนงานการติดต่อสื่อสารภายในประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนอยู่ระหว่างการยกร่าง รวมทั้งสนับสนุนให้บรรลุการเจรจาแผนงานนี้โดยเร็ว ตลอดจนการปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนงานดังกล่าว โดยมุ่งหวังให้มีการนำแผนงานของประชาคมนี้ไปสู่ประชาชนของเรา

สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 14. เรายินดีต่อการภาคยานุวัตรสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยสหรัฐอเมริกาที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณอันเข้มแข็งที่แสดงออกถึงพันธกรณีของประเทศเหล่านี้ต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค 15. เรามุ่งหวังให้มีการลงนามพิธีสารต่อท้ายที่สามเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้สหภาพยุโรปหรือประชาคมยุโรปภาคยานุวัตรสนธิสัญญาดังกล่าว ในอนาคตอันใกล้

การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาเอเชีย-แปซิฟิก 16. เรายืนยันบทบาทของอาเซียนในฐานะพลังขับเคลื่อนหลักของกระบวนการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และบทบาทของการประชุมดังกล่าวในฐานะเวทีหลักในการส่งเสริมการหารือด้านการเมืองและความมั่นคง รวมทั้งความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 17. ในการนี้ เราได้ยินดีกับการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 15 ปีของการจัดตั้งการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงฯ รวมทั้งความสำเร็จที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เรามุ่งหวังให้มีการรับรองถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ของที่ประชุมฯ ซึ่งถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ฉบับนี้จะช่วยกำหนดทิศทางที่ชัดเจนสำหรับการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงฯ อันจะมีส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาค เราได้มุ่งหวังให้การพัฒนาแผนงานในการปฏิบัติให้เป็นไปตามถ้อยแถลงดังกล่าว และการทูตเชิงป้องกัน สนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 18. เราได้ทบทวนการปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการของสนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้ตกลงที่จะใช้ความพยายามมากขึ้นในการทำให้แน่ใจว่าโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่ระบุในแผนปฏิบัติการจะถูกนำไปดำเนินการให้สำเร็จทันเวลา 19. เราได้ตกลงที่จะสานต่อความสัมพันธ์กับรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง เพื่อส่งเสริมให้รัฐดังกล่าวทำการภาคยานุวัตรพิธีสารต่อท้ายสนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเร็ว 20. เรายินดีกับเวียดนามในฐานะประธานในอนาคตของคณะกรรมาธิการสนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 ทะเลจีนใต้ 21. เรายืนยันความสำคัญที่ต่อเนื่องของปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ ปี 2545 ในฐานะที่เป็นเอกสารหลักระหว่างอาเซียนกับจีน อันเป็นสัญลักษณ์ของพันธกรณีร่วมกันของเราที่จะทำให้แน่ใจว่าได้มีแนวทางแก้ไขข้อพิพาทในพื้นที่ดังกล่าวอย่างสันติ เราเชื่อว่าปฏิญญานี้มีประสิทธิภาพในการสร้างความเชื่อมั่นและความเชื่อถือซึ่งกันและกันระหว่างผู้เรียกร้องสิทธิในพื้นที่ดังกล่าวและในการธำรงรักษาเสีถยรภาพและสันติภาพในภูมิภาค เราเน้นความจำเป็นที่จะเสริมสร้างความพยามที่จะผลักดันการปฏิบัติให้เป็นไปตามปฏิญญาฉบับนี้ ตลอดจนการทำให้แนวปฏิบัติว่าด้วยการดำเนินการตามปฏิญญาดังกล่าวแล้วเสร็จโดยเร็ว เรามุ่งหวังให้แนวปฏิบัติในภูมิภาคเพื่อป้องกันความขัดแย้งในทะเลจีนใต้สามารถบรรลุผลได้ในที่สุด 22. เราส่งเสริมการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องของการอดกลั้นโดยภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมมาตรการสร้างความเชื่อมั่นในทะเลจีนใต้ ตลอดจนชื่นชมพันธกรณีของภาคีต่างๆ ในการแก้ไขข้อพิพาทในทะเลจีนมต้โดยสันติวิธี เพื่อให้สอดคล้องกับจิตวิญญาณของปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ รวมทั้งตระหนักถึงหลักการต่างๆ ของกฎหมายระหว่างประเทศ อันรวมไปถึงอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 23. เรายินดีต่อการดำเนินการที่ต่อเนื่องตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและพัฒนาการของระบบใบคะแนนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในฐานะกลไกสอดส่องสำหรับกำหนดการดำเนินงานที่เฉพาะเรื่องซึ่งจะถูกดำเนินงานร่วมกันโดยอาเซียน หรือโดยแต่ละรัฐสมาชิกของอาเซียนในการดำเนินการแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 24. เราชื่นชมการลงนามความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน ความตกลงการลงทุนด้านการลงทุนของอาเซียน ความตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมรายสาขาของอาเซียนสำหรับการตรวจผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต และพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 7 ภายใต้ความตกลงการค้าบริการของอาเซียน ซึ่งได้ลงนามในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 เราตระหนักว่า ความตกลงเหล่านี้ได้บรรจุประเด็นสำคัญที่จะเสริมสร้างความโปร่งใส ความแน่นอน และการคาดการณ์ได้ในกรอบทางกฎหมายของอาเซียน ตลอดจนส่งเสริมระบบที่วางอยู่บนพื้นฐานทางกฎหมายของอาเซียน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อผู้บริโภคและประชาคมทางธุรกิจของอาเซียน 25. เราย้ำความสำคัญว่า ประโยชน์จากการบูรณาการทางเศรษฐกิจของอาเซียนจะเพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็วไปสู่ประชาชนของอาเซียน โดยการดำเนินการตามข้อกำหนดต่างๆ ในแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและแผนการสื่อสารของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เราได้ย้ำถึงความจำเป็นที่จะสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งระหว่างสาธารณะ ภาคเอกชน และสำนักเลขาธิการอาเซียนในการดำเนินการร่วมกันในฐานะพลังขับเคลื่อนในการเร่งรัดการดำเนินงานตามพันธกรณีในการบรรลุประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน 26. เรายืนยันพันธกรณีต่อแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนที่รับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่อำเภอชะอำ หัวหิน เรารับทราบถึงความสนับสนุนของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนในการสร้างประชาคมอาเซียนซี่งมีประชาชนเป็นศุนย์กลางและรับผิดชอบต่อสังคมโดยมีความมุ่งหมายในการรักษาเอกภาพและปึกแผ่นระหว่างรัฐต่างๆ และประชาชนของอาเซียน โดยการส่งเสริมอัตลักษณ์ร่วมกัน รวมทั้งการสร้างสังคมแห่งการเอื้ออาทรและแบ่งปัน ซึ่งรวมทุกภาคส่วนอย่างผสมกลมกลืนเป็นประชาคมซึ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และสวัสดิการของประชาชน 27. เราหวังว่าการประชุมครั้งแรกของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 สิงหาคม 2552 ที่กรุงเทพฯ

การสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อสถานการณ์ในระดับภูมิภาค เสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจ 28. เราแสดงความห่วงกังวลต่อผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินระดับโลกต่อการค้า การลงทุน และการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในภูมิภาค เราย้ำพันธกรณีของเราที่จะดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อแก้ไขวิกฤติครั้งนี้ ตามที่ปรากฏในร่างแถลงข่าวร่วมของผู้นำอาเซียนว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก เมื่อเดือนมีนาคม 2552 ที่อำเภอชะอำ หัวหิน ซึ่งมีประเด็นสำคัญ คือ การประสานนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาค การยืนยันอย่างแน่วแน่ในการต่อต้านลัทธิกีดกันทางการค้า การดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตลอดจนเพิ่มความพยายามเพื่อให้การเจรจาวาระการพัฒนารอบโดฮาบรรลุผล

     29. เรายินดีต่อคำแถลงข่าวร่วมว่าด้วยความร่วมมือในกรอบอาเซียน +3 เรื่องการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของโลก โดยผู้นำอาเซียน+ 3 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งภายใต้           คำแถลงข่าวดังกล่าว อาเซียนและประเทศ +3 ได้ตกลงจะเสริมสร้างกลไกช่วยเหลือตนเองด้านการเงินในภูมิภาค โดยการจัดตั้งกลไกการใช้ทุนสำรองร่วมกันภายในภูมิภาคภายใต้การจัดตั้งกองทุนสำรองพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ โดยมีวงเงินทั้งสิ้น 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ในเรื่องนี้ เรามุ่งหวังให้กองทุนสำรองพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่สามารถดำเนินการได้ภายในปี 2552  ตามมติของ        ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน + 3 ที่บาหลี เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2552  นอกจากนั้น เราชื่นชมที่รัฐมนตรีอาเซียน + 3 ได้ตกลงกันที่จะพัฒนากลไกการตรวจสอบในระดับภูมิภาคเพื่อติดตามและวิเคราะห์เขตเศรษฐกิจภูมิภาคและสนับสนุนการดำเนินการของกองทุนสำรองพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่
30. เรายินดีต่อการมีคำแถลงข่าวร่วมของที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกโดยผู้นำของที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งภายใต้คำแถลงดังกล่าว อาเซียนและหุ้นส่วนจากประเทศเอเชียตะวันออกได้ยืนยันที่จะต่อต้านลัทธิกีดกันทางการค้าและมาตรการบิดเบือนทางการค้าในรูปแบบต่างๆ  สนับสนุนข้อตกลงที่การประชุมสุดยอด G-20       ที่กรุงลอนดอน กล่าวย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อพัฒนามาตรการที่เป็นรูปธรรมในการลดผลกระทบของวิกฤติ  ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพที่เติบโตภายในภูมิภาค  ขยายอุปสงค์ รวมทั้งส่งเสริมความพยายามของหน่วยงานสินเชื่อเพื่อการส่งออก สถาบันการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารพาณิชย์ในการทำให้แน่ใจว่ามีทรัพยากรทางการเงินที่เพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจ
ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน
31. เราตระหนักว่าความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในภูมิภาค  เราเน้นความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวโยงกันระหว่างความมั่นคงด้านอาหารและความมั่นคงด้านพลังงานอย่างรอบด้าน ในการนี้ เราระลึกถึงการลงนามความตกลงอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงด้านปิโตรเลียมและการรับรองแถลงการณ์ว่าด้วยความมั่นคงทางอาหารในอาเซียนโดยผู้นำอาเซียนในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่อ.ชะอำ หัวหิน ในฐานะที่เป็นมาตรการที่จะทำให้แน่ใจว่ามีความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานในภูมิภาค
32. เราตกลงว่า ตลาดพลังงานที่มีประสิทธิภาพจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพในอุปทานด้านอาหารและพลังงาน เราเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือในการสำรวจทางเลือกต่างๆ นอกเหนือจากทรัพยากรพลังงานรูปแบบเดิม ในขณะที่นำผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรและผลิตผลทางอาหารมาพิจารณาร่วมด้วย เราสนับสนุนการค้าผลผลิตทางอาหารที่ยุติธรรมและเปิดกว้างเป็นหลักสำคัญ รวมทั้งสนับสนุนการค้าที่จะช่วยลดการบิดเบือนทางการค้าและตลาด เพื่อที่ทำให้แน่ใจว่ามีอาหารเพียงพอในภูมิภาค
การจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ
33. เราตระหนักว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเรียกร้องให้มีการดำเนินการที่เร่งด่วน ในลักษณะที่ร่วมมือและประสาน ทั้งในระดับภายในประเทศ ภูมิภาค และระหว่างประเทศ
     34. เราย้ำว่า กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ รวมทั้ง        พิธีสารเกียวโต เป็นช่องทางสำคัญสำหรับการเจรจาระหว่างประเทศและความร่วมมือในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการนี้ เราได้ยืนยันพันธกรณีที่มีต่อเป้าหมาย วัตถุประสงค์  และหลักการของกรอบอนุสัญญาและพิธีสารดังกล่าว รวมทั้งหลักการของความรับผิดชอบร่วมที่แตกต่างกัน   ตามความสามารถและสภาพของแต่ละประเทศ เราได้ให้คำมั่นที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับหุ้นส่วนอื่นๆ เพื่อให้การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติที่      กรุงโคเปนเฮเกนประสบความสำเร็จ
35. เรายินดีต่อความความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และสนับสนุนให้มีการเสริมสร้างความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นในประเด็นที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
การจัดการภัยพิบัติ
36. เรายินดีกับความก้าวหน้าในการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยจากพายุไซโคลนนาร์กีสในพม่าภายใต้กลไก   ที่อาเซียนมีบทบาทนำ รวมถึงความสำเร็จในการหารือเกี่ยวกับข้อเสนอแนะของเลขาธิการอาเซียนในฐานะประธานคณะทำงานด้านมนุษยธรรมอาเซียนสำหรับผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนนาร์กิส
37. โดยคำนึงว่าอาณัติของคณะทำงานด้านมนุษยธรรมอาเซียนจะสิ้นสุดลงในปี 2553 เราจึงได้มอบหมายให้คณะทำงานและกลุ่มแกนนำสามฝ่ายทบทวนแผนฟื้นฟูและเตรียมความพร้อมหลังภัยพิบัติไซโคลนนาร์กิส เพื่อนำผลลัพธ์สำคัญสำหรับ 12 เดือนข้างหน้าไปพิจารณา  ในการนี้ เราตกลงว่า ความสนับสนุนที่ต่อเนื่องที่ให้แก่พม่าจะเน้นที่การให้ความเป็นอยู่ที่ดี ที่อยู่อาศัย สุขภาพ การศึกษา และการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ  เราได้มอบหมายให้คณะทำงานด้านมนุษยธรรมและกลุ่มแกนนำสามฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การเข้ามาดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรม เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยจากพายุไซโคลนนาร์กีส
38. เราเรียกร้องให้คณะทำงานด้านมนุษยธรรมของอาเซียนทำงานอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติ เพื่อที่จะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีจากการดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ภัยพิบัติหลังเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กีส เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติให้เป็นไปตามความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งการดำเนินการของศูนย์ประสานงานอาเซียนสำหรับการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในเรื่องการจัดการภัยพิบัติ
39. เราชื่นชมบทบาทที่ได้รับการมอบหมายของเลขาธิการอาเซียนในฐานะผู้ประสานงานการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
โรคระบาดต่างๆ
40. เรายืนยันถึงความพยายามร่วมกันในการส่งเสริมความสามารถของภูมิภาคในการเฝ้าระวัง เตรียมความพร้อม และแก้ไขโรคระบาดต่างๆ
41. เรายินดีต่อผลสำเร็จของการประชุมสมัยพิเศษของรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน +3 ว่าด้วยการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (เอชวันเอ็นวัน) เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2552 ที่กรุงเทพฯ  เราได้ย้ำถึงความจำเป็นที่จะบรรลุพันธกรณีต่างๆ ภายใต้แถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี อันได้แก่ การดำเนินงานตามแผนเตรียมความพร้อมสำหรับโรคระบาดร้ายแรงระดับประเทศ  การเพิ่มการเฝ้าระวังและการตอบสนอง  ตลอดจนการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ประชาชนเพื่อหลีกเลี่ยงความวุ่นวายทางสังคมที่อาจเกิดขึ้น  เราย้ำถึงความจำเป็นที่จะส่งเสริมความร่วมมือในการผลิตวัคซีนสำหรับไข้หวัดใหญ่   สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (เอชวันเอ็นวัน) ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้
42. เราสนับสนุนให้องค์กรเฉพาะสาขาสำรวจความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์วิจัยและผลิต รวมทั้งความร่วมมือในภูมิภาคที่จะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคในอนาคต

ความสัมพันธ์ภายนอก 43. เรายึดมั่นในพันธกรณีที่จะทำให้แน่ใจว่าอาเซียนจะรักษาความเป็นประชาคมที่มองไปสู่ภายนอก โดยการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน 44. เราแสดงความยินดีต่อการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำอาเซียนของประเทศคู่เจรจาและรัฐที่มิใช่สมาชิกอาเซียนอื่นๆ ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ในเรื่องพันธกรณีของประเทศเหล่านี้ที่จะเสริมสร้างความร่วมมือกับอาเซียน เรารับรองการดำเนินงานสำหรับการรับเอกอัครราชทูตประจำอาเซียนจากรัฐที่มิใช่สมาชิกอาเซียน รวมทั้งองค์กรระหว่างรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง 45. เรายินดีต่อการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างออสเตรเลียกับอาเซียนว่าด้วยโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย ระยะที่ 2 ซึ่งมีมูลค่า 57 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพื่อสนับสนุนอาเซียนในการการปฏิบัติตามการกำหนดลำดับความสำคัญในการบูรณาการด้านเศรษฐกิจและนโยบายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 46.เรามุ่งหวังให้มีการรับรองแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนที่เพิ่มพูนระหว่างอาเซียนกับแคนาดา ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันใหม่สำหรับอาเซียนกับแคนาคาในการเพิ่มพูนและยกระดับความสัมพันธ์ในทุกสาขาความร่วมมือ เรามุ่งหวังที่จะทำงานร่วมกับแคนาดาอย่างใกล้ชิดในการจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับหุ้นส่วนที่เพิ่มพูนระหว่างอาเซียนกับแคนาดา 47.เราชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของจีนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งระหว่างอาเซียนกับจีน และยินดีต่อการจัดตั้งกองทุนความร่วมมือด้านการลงทุนอาเซียน-จีน มูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุนที่สำคัญต่อการเชื่อมต่อเครือข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์ในภูมิภาค เรามุ่งหวังให้มีการ ลงนามความตกลงการลงทุนอาเซียน-จีนในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ในเดือนสิงหาคม 2552 ในเรื่องการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน เราเชื่อว่ามีความจำเป็นในการหาลู่ทางในการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับจีนในทุกมิติต่อไป เรายินดีต่อแผนงานของจีนที่จะให้สินเชื่อทางการค้ามูลค่า 15, 000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งการกู้เงินด้วยเงื่อนไขพิเศษมูลค่า 1700 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่รัฐสมาชิกแก่รัฐสมาชิกอาเซียนภายใน 3-5 ปีข้างหน้า 48. เรายืนยันความสำคัญของความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรปรวมทั้งย้ำถึงความจำเป็นที่จะส่งเสริมการหารือระหว่างกันบนพื้นฐานของหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกันและผลประโยชน์ร่วมกัน ในการนี้ เราพอใจกับผลสำเร็จของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป ครั้งที่ 17 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2552 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับรองวาระพนมเปญ (2552-2553) 49. เรายินดีกับผลข้อยุติในประเด็นทางด้านเทคนิคที่ยังคงเหลือภายใต้ความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าระหว่างอาเซียนกับอินเดียและมุ่งหวังให้มีการลงนามในโอกาสแรก เราเชื่อมั่นว่า ความตกลงดังกล่าวจะทำให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่จากศักยภาพของตลาดร่วมของเรา 50. เราชื่นชมการดำเนินการของญี่ปุ่นในการสนับสนุนกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียนและการลดช่องว่างทางการพัฒนา เรายินดีกับ “ข้อริเริ่มเพื่อการเจริญเติบโตที่จะนำไปสู่การเพิ่มขนาดของเศรษฐกิจเอเชีย” ของนายกรัฐมนตรีทาโร อาโสะ ที่จะเอาชนะสภาวะการชลอตัวทางเศรษฐกิจของโลกและสถานการณ์ด้านการเงิน รวมทั้งป้องกันภูมิภาคของเราจากวิกฤตการณ์ในอนาคต เราตระหนักถึงความจำเป็นที่จะใช้ความพยายามมากขึ้นในการขยายการค้าและการลงทุนโดยอาศัยความตกลงว่าด้วยหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น เราชื่นชมการสนับสนุนทางการเงินของญี่ปุ่นมูลค่า 62 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กองทุนบูรณาการระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียน ซึ่งเป็นความช่วยเหลือที่เร่งด่วนให้กับรัฐสมาชิกอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะชลอตัวทางเศรษฐกิจของโลก รวมทั้งความช่วยเหลือมูลค่า 13.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับความร่วมมือว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติ 51. เรายินดีกับผลสำเร็จของการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษ เพื่อฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 20 ปีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 1-2 มิถุนายน 2552 ณ เกาะเจจู และการลงนามความตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลี เ เราตกลงที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อทำให้เป้าหมายต่างๆ ที่กำหนดโดยผู้นำบรรลุผล ซึ่งได้แก่ การเพิ่มมูลค่าการค้าสองฝ่ายเป็น 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2553 โดยการดำเนินการภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี เราชื่นชมข้อริเริ่มของสาธารณรัฐเกาหลีที่จะจัดตั้งกองทุนหุ้นส่วนเพื่อแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของเอเชียตะวันออก มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดจนพันธกรณีของสาธารณรัฐเกาหลีที่จะจัดสรรงบประมาณ 100 ล้านดอลลลาร์สหรัฐฯ จากกองทุนนี้ไปให้กับรัฐสมาชิกอาเซียนเพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 52. เรายินดีต่อการลงนามความตกลงเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 ที่อำเภอชะอำ หัวหิน ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างกัน 53. เราย้ำพันธกรณีที่จะทำให้แผนงานว่าด้วยการปฏิบัติให้เป็นไปตามโครงการส่งเสริมความร่วมมืออาเซียน-รัสเซียแบบรอบด้านบรรลุผล เรามุ่งหวังให้การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์อาเซียนในกรุงมอสโก โดยการเปิดศูนย์ดังกล่าวขึ้นที่สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งกรุงมอสโกในปลายปีนี้ เรา รับทราบผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-รัสเซียที่มีขึ้นในกรุงมะนิลา ในเดือนเมษายน 2552 รวมทั้งข้อเสนอในการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 2 และการตัดสินใจที่จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดผลที่เป็นรูปธรรมของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ 54. เรายินดีที่สหรัฐอเมริกาได้ให้ความสนใจในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการภาคยานุวัตรสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังจะมีขึ้น นอกจากนั้น เราชื่นชมการรับรองสาขาความร่วมมือเร่งด่วนภายใต้การเป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มพูนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกาที่ได้ปรับปรุงขึ้นใหม่ ซึ่งจะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งสนับสนุนอย่างสร้างสรรค์ในความพยายามสร้างประชาคมอาเซียน อาเซียนจะทำงานร่วมกับสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ความตกลงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ แล้วเสร็จ 55. เรายินดีกับการรับรองแนวปฏิบัติสำหรับการดำเนินการตามแถลงการณ์ร่วมครั้งที่สอง ว่าด้วยความร่วมมือในเอเชียตะวันออก และแผนงานความร่วมมืออาเซียน+3 แนวปฏิบัติดังกล่าวจะช่วยเร่งรัดการดำเนินการตามแถลงการณ์ร่วมและแผนงานให้มีประสิทธิภาพและรอบด้านยิ่งขึ้น เรารับทราบการดำเนินการจัดตั้งกองทุนความร่วมมืออาเซียน+3 ด้วยเงินทุนตั้งต้นที่ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เรารับทราบความก้าวหน้าของการศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก ระยะที่ 2 และมุ่งหวังให้เสนอรายงานฉบับสุดท้ายให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ในเดือนตุลาคม 2552 56. เรายินดีกับการพัฒนาของที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกในการวิวัฒน์โครงสร้างสถาบัตยกรรมของภูมิภาค เพื่อปฏิบัติตามแนวทางที่ผู้นำให้ไว้ในระหว่างการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 3 เราได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ให้ทำงานร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียนในการพิจารณาโครงสร้างที่เป็นไปได้ในการประสานกระบวนการเอเชียตะวันออกให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้กระบวนการเอเชียตะวันออกสามารถตอบสนองต่อความท้ายทายใหม่ๆ เราชื่นชมบทบาทสำคัญของสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชียตะวันออกในการส่งเสริมการรวมตัวของอาเซียน เรารับทราบความก้าวหน้าของการศึกษาความเป็นไปได้ของการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สมบูรณ์ในเอเชียตะวันออก ระยะที่ 2 และมุ่งหวังให้เสนอรายงานฉบับสุดท้ายให้ที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 4 ในเดือนตุลาคม 2552 เราชื่นชมข้อเสนอของสิงคโปร์ที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมสำหรับการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 2 ในเดือนตุลาคม 2552 57. เรายินดีต่อผลการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับกลุ่มความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ เมื่อวันที่ 29-30 มิถุนายน 2552 ที่กรุงมานามา บาห์เรน ซึ่งรวมถึงการรับรองวิสัยทัศน์ร่วมของอาเซียน-กลุ่มความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ และการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการกลุ่มความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ 58. เรายินดีกับผลของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-ตลาดร่วมอเมริกาตอนใต้ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2552 ที่กรุงบราซิเลีย ประเทศบราซิล และได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของเราเตรียมแผนงานและแผนการดำเนินการระหว่างภูมิภาคใน

ประเด็นที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน 59. เราชื่นชมประเทศผู้ประสานงานอาเซียนสำหรับประเทศคู่เจรจาอาเซียนในระหว่างปี 2549 — 2552 สำหรับความรับผิดชอบที่มีในการประสานงานและส่งเสริมผลประโยชน์ของอาเซียนในความสัมพันธ์กับคู่เจรจาที่เกี่ยวข้อง ในการนี้ เรายินดีที่จะประกาศประเทศผู้ประสานงานอาเซียนสำหรับปี 2552-2555 และเน้นย้ำการสนับสนุนประเทศเหล่านั้นในการปฏิบัติตามหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะประเทศผู้ประสานงานสำหรับประเทศคู่เจรจาต่าง ๆ

ประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศ คาบสมุทรเกาหลี 60. เราระลึกถึงคำแถลงการณ์ของผู้นำเมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ที่ยืนยันการประณามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ใต้ดินและการยิงขีปนาวุธโดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่าได้ละเมิดข้อมติต่างๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ รวมถึงข้อมติที่ 1874 61. เราเรียกร้องให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีปฏิบัติตามกฎกติกาและข้อมติที่เกี่ยวข้องของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติโดยสมบูรณ์ เราเรียกร้องให้ประเทศที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายกลับเข้าสู่กระบวนการการเจรจาหกฝ่ายโดยเร็ว และปฏิบัติตามพันธกรณีที่ได้ตกลงกันในการเจรจาหกฝ่าย ผ่านมา ซึ่งเป็นกลไกหลักในการบรรลุสันติภาพและเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลี 62. เราเชื่อว่า การประชุมอาเซียนว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิก ซึ่งอาเซียนและประเทศที่เข้าร่วมการเจรจาหกฝ่ายเป็นผู้เข้าร่วม จะสามารถมีบทบาทเชิงรุกและสร้างสรรค์ในการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลี เราสนับสนุนให้ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ตะวันออกกลาง 63. เราได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลางและย้ำความจำเป็นที่จะทำให้แน่ใจว่า จะมีสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพระยะยาวในภูมิภาค เราเรียกร้องให้มีการระงับข้อพิพาทที่สมบูรณ์และยุติธรรม โดยให้สองรัฐ ได้แก่ อิสราเอลกับปาเลสไตน์ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายในเขตแดนที่ปลอดภัยและยอมรับร่วมกัน ภายใต้แผนงาน ข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนข้อริเริ่มว่าด้วยสันติภาพของรัฐอาหรับ 64. เรายินดีกับการประกาศของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทอย่างแข็งขันในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลาง และเราหวังว่าสหรัฐฯ และประเทศสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่ม สี่ฝ่ายจะยังคงผลักดันให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกลับมาสู่การเจรจากระบวนการสันติภาพต่อไป 65. เรายืนยันข้อเรียกร้องเพื่อให้การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวปาเลสไตน์ในกาซาสามารถดำเนินไปได้อย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชน ในการนี้ เราจึงขอแสดงความห่วงกังวลว่าเส้นทางข้ามพรมแดนไปยังกาซายังปิดอยู่ทำให้ไม่สามารถลำเลียงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและเครื่องยังชีพพื้นฐานไปสู่ประชาชนในเขตกาซา

การต่อต้านการก่อการร้าย/ลัทธิหัวรุนแรง

     66.  เราขอประณามเหตุระเบิดที่กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ซึ่งทำให้มีผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ เราขอแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับอินโดนีเซียและขอย้ำความมั่นใจที่มีต่อรัฐบาลอินโดนีเซียในการที่จะนำผู้กระทำความผิด สมาชิกองค์กร ผู้สนับสนุนด้านการเงิน และผู้อยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายครั้งนี้มารับโทษ เราขอยืนยันเจตนารมณ์ที่จะเร่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาคในการต่อต้านการก่อการร้ายและลัทธิหัวรุนแรงต่อไป ในการนี้ เราขอสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เหลือเร่ง          อนุวัติการอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย และเน้นย้ำความสำคัญในการเร่งเสริมสร้างศักยภาพของภาคส่วนในสังคม ที่รักความสงบ รวมทั้งการส่งเสริมการสมานฉันท์ระหว่างความเชื่อเพื่อสันติภาพ ในการนี้ เราขอสนับสนุนฟิลิปปินส์ในการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีสมัยพิเศษของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดว่าด้วยเรื่อง การสมานฉันท์ระหว่างความเชื่อเพื่อสันติภาพ และความร่วมมือเพื่อสันติภาพในเดือนธันวาคม 2552

การลดอาวุธนิวเคลียร์ 67. เรารับทราบพัฒนาการที่ดีในหลายเวทีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการลดอาวุธนิวเคลียร์ โดยเฉพาะชื่นชมที่สหรัฐฯ และสหพันธรัฐรัสเซียสามารถบรรลุข้อตกลงทวิภาคีเบื้องต้นในเรื่องการลดคลังอาวุธนิวเคลียร์ เราระลึกถึงพันธกรณีของสาธารณรัฐประชาชนจีนเกี่ยวกับท่าทีของจีนที่จะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นฝ่ายแรก ในระดับพหุภาคี เราหวังว่า ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมด้านการลดอาวุธ จะกลับมาเจรจาเกี่ยวกับการลดอาวุธนิวเคลียร์ดังข้อเรียกร้องในมาตรา 6 ของสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ เรามุ่งหวังให้มีการจัดประชุมเพื่อการทบทวนของประเทศสมาชิกในสนธิสัญญาดังกล่าว ในปี 2553 เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ได้อย่างสมดุล รวมทั้งตกลงที่จะส่งเสริมและทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประธานการประชุมเพื่อการทบทวนสนธิสัญญาดังกล่าว พัฒนาการในพม่า 68. เรารับทราบการบรรยายสรุปของพม่าเกี่ยวกับการเยือนพม่าของนายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติเมื่อเร็วๆ นี้ เราส่งเสริมให้พม่าจัดการเลือกตั้งที่มีเสรี ยุติธรรม และประชาชนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในปี 2553 ซึ่งจะได้วางพื้นฐานที่ดีสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของพม่าในอนาคต ในการนี้ เราระลึกถึงคำแถลงการณ์ของผู้นำอาเซียน เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 ที่ได้ยืนยันข้อเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยผู้ถูกคุมขังโดยเร็ว ซึ่งรวมถึงนางออง ซาน ซู จี โดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปูทางสำหรับการสมานฉันท์ที่แท้จริงและการพูดคุยหารืออย่างมีความหมายของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายให้ ทุกฝ่ายเข้าร่วมในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2553 69. พม่าให้ทัศนะว่า แรงกดดันจากภายนอกและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการประชาธิปไตยและการพัฒนาของพม่า โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐบาลพม่ากำลังพยายามแก้ไขปัญหาท้าทายที่มีความซับซ้อนหลายประการ เราจะยังคงมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับพม่าในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน เรายังคงให้การสนับสนุนบทบาทในการ ไกล่เกลี่ยของเลขาธิการสหประชาชาติที่ดำเนินอยู่ และยินดีที่พม่าให้คำยืนยันที่จะร่วมมืออย่างเต็มที่กับสหประชาชาติ การค้ามนุษย์ 70. เรารับทราบว่า ประเด็นการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นปัญหาในลักษณะที่ข้ามภูมิภาค และเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน และประเทศปลายทาง เราเน้นย้ำความจำเป็นที่ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องจะต้องแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหา เช่น โดยการพัฒนาศักยภาพมนุษย์และสถาบัน 71. เรายินดีกับความพยายามที่ต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในระดับภูมิภาค ในการนี้ เรายินดีกับผลการประชุมบาหลีระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการลักลอบขนคนข้ามชาติ การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 14-15 เมษายน 2552 ณ บาหลี อินโดนีเซีย เราตระหนักว่าปัญหาการค้ามนุษย์จะต้องได้รับการแก้ไขโดยการร่วมมือกันและอย่างรอบด้าน

การประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ครั้งที่ 43 72. เรามุ่งหวังที่จะจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 43 และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 17 ในเดือนกรกฎาคม 2553 ที่เวียดนาม

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ-- -พห-


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ