เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 2552 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานอาเซียนได้แถลงข่าวเกี่ยวกับผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 42 และแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์จากการประชุมฯ สาระสำคัญของแถลงการณ์ร่วมฯ สรุปได้ ดังนี้
1. การจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้รับรองร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ภายใต้ชื่อ “คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียน” และได้เสนอให้ประกาศการเริ่มดำเนินงานของคณะกรรมาธิการระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ในเดือนตุลาคม
ทั้งนี้ การรับรองร่างขอบเขตอำนาจดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการที่จะมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในอาเซียน ดังนั้น จะมีการทบทวนภาระหน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯ หลังจากที่ร่างขอบเขตอำนาจมีผลบังคับใช้แล้ว 5 ปี
2. ประเด็นด้านความมั่นคงในภูมิภาคและระหว่างประเทศ
ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่าภายหลังเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กีสและการสนับสนุนการดำเนินงานในกรอบกลุ่มแกนนำสามฝ่าย (อาเซียน-พม่า-สหประชาชาติ) นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับประเด็นผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายในมหาสมุทรอินเดีย และรับฟังการบรรยายสรุปโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพม่า ตลอดจนแสดงความตั้งใจที่จะรักษาปฏิสัมพันธ์กับพม่าต่อไปควบคู่กับการสนับสนุนการดำเนินงานของสหประชาชาติ ซึ่งจากการหารือ หลายฝ่ายมีความรู้สึกร่วมกันว่า โดยที่ขณะนี้กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้แล้ว และอาเซียนกำลังพัฒนาไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ดังนั้น จึงควรช่วยกันแก้ไขปัญหาภายในของอาเซียนเองโดยไม่ต้องพึ่งการแทรกแซงจากประชาคมระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี และการประณามการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของสาธารณรัฐประชาชนประชาธิปไตยเกาหลี (เกาหลีเหนือ) โดยเรียกร้องให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ขณะเดียวกัน อาเซียนจะพยายามคงการปฏิสัมพันธ์โดยเฉพาะในกรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) และหาหนทางที่อาเซียนจะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเกาหลีเหนือกับกับประชาคมระหว่างประเทศ
3. การสร้างประชาคมอาเซียน
ที่ประชุมได้หารือกันเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎบัตรอาเซียน อาทิ การแบ่งงานระหว่างกลไกเดิมๆ ของอาเซียนกับกลไกใหม่ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎบัตรฯ เพื่อให้องค์กรเหล่านี้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ซ้ำซ้อน นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแนวทางสนับสนุนให้อาเซียนมีบทบาทนำในเวทีระหว่างประเทศของภูมิภาค และการใช้ประโยชน์จากคณะกรรมการอาเซียนในประเทศที่สามในการติดต่อกับต่างประเทศ อาทิ การตั้งคณะกรรมการในทุกประเทศที่มีสถานเอกอัครราชทูตของอาเซียน 5 ประเทศขึ้นไป
4. ความสัมพันธ์กับภายนอก
ที่ประชุมได้รับรองการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำอาเซียนตลอดจนแนวปฏิบัติในอนาคต
5. สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่ประชุมแสดงความยินดีต่อการที่สหรัฐฯ กำลังจะเข้าให้การภาคยานุวัตรสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นสัญญาณอันเข้มแข็งที่แสดงออกถึงพันธกรณีของอาเซียนและสหรัฐฯ ต่อการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค
6. เรื่องอื่นๆ
ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับจีนและอินเดีย นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบข้อเสนอของเวียดนามที่จะจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 43 ในเดือนกรกฎาคม 2553
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--