รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเห็นชอบให้เพิ่ม 2 สาขาความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคงในแผนงานอาเซียน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 22, 2009 14:17 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 52 นายวิทวัส ศรีวิหค อธิบดีกรมอาเซียน ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับผลการประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political Security Community — APSC) สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. การประชุมคณะมนตรีฯ ครั้งมีขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยมีภารกิจสำคัญเพื่อติดตามผลความคืบหน้าของการดำเนินการตามผลการหารือของคณะมนตรีฯ ครั้งที่ผ่านมา (เม.ย.2552) ซึ่งที่ประชุมฯ ในครั้งนั้น ได้เห็นชอบการจัดลำดับความสำคัญของสาขาความร่วมมือด้านการเมืองความมั่นคงที่คณะมนตรีฯ จะเร่งดำเนินการ 11 สาขา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนภายในปีเป้าหมาย 2558 ได้แก่ (1) การทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนเริ่มดำเนินการได้ (2) การจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียน (3) การจัดทำแนวปฏิบัติในกรณีที่ประเทศนอกอาเซียนจะเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) (4) การเสริมสร้างความร่วมมือว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติ (5) การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ รวมถึงการยกร่างสนธิสัญญาของอาเซียนว่าด้วยการค้ามนุษย์และแรงงานต่างด้าว (6) การจัดตั้งกลไกการหารือในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการประมง (7) การส่งเสริมให้หน่วยงานด้านกลาโหมของประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมมือกับหน่วยงานภาคประชาสังคมมากยิ่งขึ้นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของอาเซียนในการรับมือกับปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ (8) การจัดทำเอกสารวิสัยทัศน์กำหนดทิศทางและบทบาทของการประชุมอาเซียนว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) (9) การเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียนว่าด้วยการใช้บทบาทของกองทัพในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการรักษาสันติภาพ (10) การเสริมสร้างความเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และ (11) การจัดทำเอกสารกำหนดกฎเกณฑ์การปฏิบัติงานของ APSC

2.ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบให้เพิ่มสาขาความร่วมมือที่คณะมนตรีฯ ควรเร่งดำเนินการอีก 2 สาขา ได้แก่ (1) การดำเนินการตามข้อริเริ่มว่าด้วยรวมตัวกันของอาเซียนซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเก่าและใหม่ (Initiative for ASEAN Integration - IAI) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวกับการเมืองและความมั่นคง เช่น การเสริมสร้างศักยภาพของประเทศสมาชิกในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การปรับโครงสร้างทางกฎหมาย หลักธรรมาภิบาล และการเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชน การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ และ (2) การดำเนินการตามเอกสารที่กำหนดหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (2002 Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea)

3. นอกจากประเด็นข้างต้น ที่ประชุมฯ ได้หารือเกี่ยวกับประเด็นอื่น ๆ อาทิ (1) การจัดการในประเด็นด้านการบริหารภายในของ APSC รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการทำงานของ APSC โดยคำนึงว่า APSC เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่ (2) การส่งเสริมการหารือเพื่อให้ประเทศที่มีความแตกต่างกันทางสังคมและศาสนาสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และอยู่ด้วยกันได้โดยสันติ (interfaith dialogue) รวมถึงการส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในเรื่องนี้ในเวทีระหว่างประเทศอื่นๆ ด้วย และ (3) การศึกษาความเป็นไปได้ที่จะมีมาตรการใหม่ๆ ในการป้องกันโรคระบาดในภูมิภาค รวมถึงในกรณีของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (A H1N1) อาทิ การมีความร่วมมือร่วมกันเพื่อให้ได้มาซึ่งยาราคาถูก โดยในเรื่องนี้ เลขาธิการอาเซียนได้รับมอบหมายให้ไปประสานงานต่อกับรัฐมนตรีด้านสาธารณสุขอาเซียน

4. เพื่อให้การดำเนินการตามสาขาความร่วมมือข้างต้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ประชุมฯ ได้เห็นพ้องว่าแต่ละประเทศจะต้องให้ความสำคัญกับการนำข้อตกลงต่างๆ ไปปฏิบัติด้วยโดยแต่ละประเทศสมาชิกมีหน้าที่หลักในการสื่อสาร/แจกจ่ายงานต่อไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ภายในประเทศตนเอง

อนึ่ง คณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน เป็นหนึ่งในองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามกฎบัตรอาเซียน ประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน มีหน้าที่หลักคือหาแนวทางพัฒนาความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงของอาเซียน รวมถึงการดูแลให้อาเซียนสามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนได้ภายในปีเป้าหมาย 2558 ผ่านการดำเนินมาตรการต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในแผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ซึ่งได้รับการรับรองไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ