แถลงการณ์ประธาน การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน+3 ครั้งที่ 10 22 กรกฎาคม 2009 จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย

ข่าวต่างประเทศ Thursday July 23, 2009 13:30 —กระทรวงการต่างประเทศ

(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)

แถลงการณ์ประธาน

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน+3 ครั้งที่ 10

22 กรกฎาคม 2009

จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย

1. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 10 จัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 โดยมีนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน

2. รัฐมนตรีต่างประเทศได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นที่สนใจและห่วงกังวลร่วมกัน รัฐมนตรีต่างประเทศย้ำถึงความสำคัญของแถลงข่าวร่วมว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน+3 เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก ซึ่งไทยในฐานะประธานอาเซียนและประเทศผู้ประสานงานอาเซียน+3 ได้ออกในนามของประเทศอาเซียน+3 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 รัฐมนตรีต่างประเทศยืนยันที่จะทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแถลงข่าวร่วมดังกล่าว และเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสเพื่อการพัฒนา ความร่วมมือ และความก้าวหน้าร่วมกัน

3. รัฐมนตรีต่างประเทศยินดีกับข้อตกลงของการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 สมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2552 ที่จังหวัดภูเก็ต ในการขยายวงเงินกองทุนสำรองพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative Multilateralisation — CMIM) จากเดิมที่ได้ตกลงไว้จำนวน 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และข้อตกลงของการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2552 ที่บาหลี ที่จะจัดตั้ง CMIM ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2552 และจัดตั้งกลไกการลงทุนและการประกันเครดิต (Credit Guarantee and Investment Mechanism — CGIM) โดยมีเงินทุนเริ่มต้นจำนวน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Market Initiative — ABMI) เพื่อสนับสนุนการออกพันธบัตรในสกุลเงินท้องถิ่นของภาคเอกชนในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้รัฐมนตรีคลังเร่งดำเนินการจัดตั้งกองทุนสำรองพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ในการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ครั้งที่ 12 ในเดือนตุลาคม 2552

4. รัฐมนตรีต่างประเทศแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินและการยิงจรวดที่ผ่านมาเมื่อไม่นานนี้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ซึ่งเป็นการละเมิดข้อมติที่เกี่ยวข้องของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และเรียกร้องให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีปฏิบัติตามพันธกรณีและข้อมติที่เกี่ยวข้องของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างเต็มที่ รัฐมนตรีต่างประเทศแสดงความสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้กระบวนการเจรจาหกฝ่ายกลับมาประชุมอีกครั้งโดยเร็ว รัฐมนตรีต่างประเทศยังได้เน้นย้ำความสำคัญของประเด็นอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถหาข้อตกลงได้ ซึ่งรวมถึงข้อห่วงกังวลด้านมนุษยธรรม รัฐมนตรีต่างประเทศยืนยันการสนับสนุนบทบาทของการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum -ARF) ในฐานะเวทีความร่วมมือด้านความมั่นคงหลักของภูมิภาค และมีประเทศที่อยู่ในกระบวนการเจรจาหกฝ่ายร่วมอยู่ด้วยทุกประเทศ เพื่อนำไปสู่สันติภาพและความมั่นคงอย่างถาวรในคาบสมุทรเกาหลี

5. รัฐมนตรีต่างประเทศยินดีต่อการเยือนพม่าของนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 3-4 กรกฎาคม 2552 และได้ย้ำว่าองค์การสหประชาชาติมีบทบาทพิเศษต่อกระบวนการสร้างความปรองดองภายในพม่า พร้อมทั้งสนับสนุนบทบาทที่ต่อเนื่องของสหประชาชาติต่อกระบวนการประชาธิปไตยในพม่าซึ่งต้องมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ มีความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใส รัฐมนตรีต่างประเทศสนับสนุนให้พม่าจัดการเลือกตั้งในปี 2553 อย่างอิสระ ยุติธรรม และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานที่ดีสำหรับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต รัฐมนตรีต่างประเทศยินดีที่รัฐบาลพม่ากับองค์การสหประชาชาติได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดภายหลังเหตุการณ์ไซโคลนนาร์กิส

6. รัฐมนตรีต่างประเทศประณามการกระทำที่เป็นการก่อการร้ายที่กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 จากบุคคลใดก็ตามที่เป็นผู้กระทำการ ซึ่งทำให้มีผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีผู้ใดยอมรับได้ อีกทั้งได้แสดงความเสียใจแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ ประชาชนและรัฐบาลอินโดนีเซีย รัฐมนตรีต่างประเทศย้ำความมั่นใจที่มีต่อรัฐบาลอินโดนีเซียในการที่จะนำผู้กระทำความผิด สมาชิกองค์กร ผู้สนับสนุนด้านการเงิน และผู้อยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายครั้งนี้มาลงโทษ และยืนยันเจตนารมณ์ที่จะเร่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาคในการต่อต้านการก่อการร้ายและผู้ที่ก่อความรุนแรงสุดขั้วต่อไป อีกทั้งเน้นย้ำความจำเป็นในการเร่งเสริมสร้างศักยภาพของภาคส่วนในสังคมที่เป็นกลางและส่งเสริมการหารือเพื่อสมานฉันท์

7. รัฐมนตรีต่างประเทศยินดีต่อความร่วมมือไตรภาคีระหว่างประเทศบวกสาม รวมทั้งเจตนารมณ์ของทั้งสามประเทศที่จะส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในการเป็นกลไกขับเคลื่อนความร่วมมือเอเชียตะวันออก อีกทั้งยังรับทราบเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดไตรภาคีระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ในปีนี้ ซึ่งจะมีส่วนส่งเสริมอย่างสร้างสรรค์ต่อความร่วมมือเอเชียตะวันออก

8. ตามที่ได้มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ A(H1N1) เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐมนตรีต่างประเทศยินดีกับมาตรการและการดำเนินการร่วมต่างๆ ที่ได้มีการตกลงในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน+3 สมัยพิเศษ ว่าด้วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2552 ที่กรุงเทพฯ และเรียกร้องให้เร่งดำเนินมาตรการและการดำเนินการดังกล่าวโดยเร็ว โดยเฉพาะการพิจารณาการจัดตั้งระบบอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงเวชภัณฑ์การแพทย์ที่จำเป็นในกรณีฉุกเฉินในภูมิภาค และการส่งเสริมการถ่ายโอนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยาต้านไวรัสและวัคซีนป้องกันโรคระบาด

9. รัฐมนตรีต่างประเทศรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือเอเชียตะวันออก ฉบับที่ 2 และแผนงานความร่วมมืออาเซียน+3 (ปี 2550-2560) และรับทราบถึงความสำเร็จในการจัดตั้งกองทุนความร่วมมืออาเซียน+3 เมื่อเดือนเมษายน 2552 ซึ่งมีเงินตั้งต้นจำนวน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการรับรองเอกสารแนวทางการปฏิบัติตามแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือเอเชียตะวันออก ฉบับที่ 2 และแผนงานความร่วมมืออาเซียน+3 โดยอธิบดีอาเซียน+3 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2552

10. รัฐมนตรีต่างประเทศย้ำเจตนารมณ์ในการรักษาความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานในภูมิภาค และหวังว่าแถลงการณ์ว่าด้วยความร่วมมือเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหารและการพัฒนาพลังงานชีวภาพในกรอบอาเซียน+3 จะได้รับการรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ครั้งที่ 12 ในเดือนตุลาคม 2552 ที่ประเทศไทย

11. รัฐมนตรีต่างประเทศยินดีต่อความคืบหน้าในการดำเนินการตามโครงการนำร่องระบบสำรองข้าวฉุกเฉินเอเชียตะวันออก (East Asia Emergency Rice Reserve —EAERR) และรับทราบข้อตกลงของที่ประชุมรัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้อาเซียน+3 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2551 ที่เวียดนาม ที่เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาของโครงการนำร่องระบบสำรองข้าวฉุกเฉินเอเชียตะวันออก ออกไปถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 และความพยายามที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนากลไกสำรองข้าวฉุกเฉินเอเชียตะวันออกให้เป็นกลไกถาวรภายใต้โครงการ “ระบบสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียน+3” (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve —APTERR) นอกจากนี้ยังแสดงความยินดีที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประกาศจะสนับสนุนข้าวจำนวน 300,000 ตันสำหรับโครงการ EAERR เพิ่มจากที่ญี่ปุ่นสนับสนุนข้าวจำนวน 250,000 ตัน

12. รัฐมนตรีต่างประเทศยินดีต่อความคืบหน้าของความร่วมมืออาเซียน+3 ด้านพลังงาน โดยเฉพาะใน 5 สาขาหลัก ได้แก่ ความมั่นคงทางพลังงาน ตลาดน้ำมัน การสำรองน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ พลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐมนตรีต่างประเทศชื่นชมสาธารณรัฐประชาชนจีนในการเป็นเจ้าภาพจัดเวทีประชุมว่าด้วยความปลอดภัยในการใช้พลังงานนิวเคลียร์อาเซียน+3 ครั้งที่ 2 ณ เมืองเซินเจิ้น เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2552 ซึ่งถือเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในด้านพลังงานนิวเคลียร์ในภูมิภาค และสนับสนุนให้ประเทศอาเซียน+3 อื่นๆ พิจารณารับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวครั้งต่อไป เพื่อตอบรับต่อความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นของการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ในภูมิภาค รัฐมนตรีต่างประเทศยังได้แสดงความยินดีกับการดำเนินการโครงการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน+3 ว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติและโครงการความร่วมมืออาเซียน+3 ว่าด้วยกลไกการพัฒนาที่สะอาดในปี 2552

13. รัฐมนตรีต่างประเทศยินดีต่อความพยายามที่ดำเนินอยู่ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก (East Asia Free Trade Area —EAFTA) และรับทราบถึงความคืบหน้าการศึกษาความเป็นไปได้ของ EAFTA ระยะที่สอง และหวังว่าจะมีการเสนอผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ครั้งที่ 12 ในเดือนตุลาคม 2552 ที่ประเทศไทย

14. รัฐมนตรีต่างประเทศรับทราบและชื่นชมต่อโครงการและกิจกรรมที่ประเทศอาเซียน+3 เสนอและดำเนินการ ดังนี้

  • จีนจัดการประชุมโต๊ะกลมเอเชียตะวันออกว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร ในเดือนเมษายน 2552 การประชุมเวทีอาเซียน+3 ว่าด้วยประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่โดยกองทัพ เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 และวางแผนจะจัดการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการอำนวยความสะดวกและการค้าอาเซียน+3 การประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมกระบวนการเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก และการสัมมนาด้านธุรกิจขนาดกลางและย่อมอาเซียน+3 และทรัพย์สินทางปัญญา ในเดือนกันยายน 2552
  • สาธารณรัฐเกาหลีแจ้งพัฒนาการในการจัดตั้ง “ศูนย์สำหรับผู้มีพรสวรรค์ทางวิทยาศาสตร์อาเซียน+3” และการเตรียมการจัดงานวิทยาศาสตร์อาเซียน+3 และค่ายผู้นำสำหรับผู้มีพรสวรรค์ทางวิทยาศาสตร์ในเดือนสิงหาคม 2552 ณ กรุงโซล และการจัดเวทีเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 1-2 กันยายน 2552 ณ กรุงโซล
  • อินโดนีเซียจัดโครงการอบรมนักการทูตอาวุโสอาเซียน+3 เมื่อเดือนเมษายน 2552 และจะจัดโครงการอบรมส่งเสริมภาษาอินโดนีเซียสำหรับนักการทูตอาเซียน+3 ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม 2552
  • ไทยจัดการประชุมทางการศึกษาระดับสูงอาเซียน+3 เมื่อวันที่ 20-22 มีนาคม 2552 ที่จังหวัดภูเก็ต และจะจัดเทศกาลวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกและมหกรรมวัฒนธรรม ปี 2552 ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 8-12 สิงหาคม 2552

15. รัฐมนตรีต่างประเทศเน้นย้ำที่จะสนับสนุนการจัดตั้งประชาคมอาเซียนและยินดีกับพัฒนาการในการปฏิบัติตามปฏิญญาชะอำ หัวหินว่าด้วยแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียนที่มีการลงนามในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2552 ที่ชะอำ หัวหิน และเน้นย้ำเจตนารมณ์ของกรอบอาเซียน+3 ที่จะสนับสนุนการจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 และเสริมสร้างความเข้มแข็งกับร่วมมือเอเชียตะวันออก

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ