สรุปประเด็นการแถลงข่าวโดยประธานการประชุม AMM/PMC/ARF

ข่าวต่างประเทศ Friday July 24, 2009 08:25 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2552 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 การประชุมรัฐมนตรี การประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และการประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 16 ได้จัดการแถลงข่าวเกี่ยวกับผลการประชุมต่างๆ ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 ก.ค.2552 สรุปสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้

1. การประชุมอาเซียนรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน + 3 และการหารืออย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศที่เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2552)

  • แม้ว่าจะมีข้อจำกัดเรื่องเวลา แต่การหารือก็เต็มไปด้วยสาระ โดยเฉพาะในประเด็นผู้เข้าร่วมประชุมให้ความสำคัญหรือมีข้อห่วงกังวลร่วมกัน รวมถึงประเด็นปัญหาที่กระทบถึงความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกันเพื่อแก้ไขวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเงินของโลก การแพร่กระจายของโรคระบาด โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ความสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน การแก้ไขปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยในภาพรวม ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดเห็นพ้องกันว่าแต่ละฝ่ายจะต้องร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้
  • จากการประชุมครั้งนี้ เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเทศทั้งหลายมีความรู้สึกร่วมกันและเป็นหนึ่งเดียวกัน และมีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะก้าวไปข้างหน้า
  • ที่ประชุมเห็นควรที่จะส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านต่าง ๆ (connectivity) ให้มากยิ่งขึ้น ทั้งในหมู่ประเทศอาเซียนและกับประเทศคู่เจรจาในเอเชียตะวันออก ทั้งนี้ การเชื่อมโยงกันมากขึ้นมิได้หมายความถึงการเชื่อมโยงทางถนน รถไฟ ทะเล อากาศ แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่รวมถึงการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร การแลกเปลี่ยนทางความรู้และวัฒนธรรม การวิจัยและพัฒนา และการแลกเปลี่ยนนักวิชาการด้วย
  • ที่ประชุมจึงเห็นพ้องที่จะให้ความสำคัญการพัฒนาการศึกษา และเห็นชอบร่วมกันให้การพัฒนาการศึกษาเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือน ต.ค.2552
  • ที่ประชุมได้หารือกันถึงแนวทางการพัฒนาความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในสาขาต่าง ๆ อาทิ (1) การพัฒนากลไกที่จะป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน และการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative Multilateralization — CMIM) ซึ่งที่ประชุมจะสนับสนุนให้รัฐมนตรีคลังประเทศอาเซียน +3 เร่งรัดการประกาศอย่างเป็นการทางในช่วงการประชุมสุดยอด ครั้งต่อไป (ต.ค.2552) (2) การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการจัดตั้งคลังสำรองยาและเวชภัณฑ์สามัญในระดับภูมิภาค และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิตยาและวัคซีนต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (A H1N1) (3) การค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ รวมถึงพลักงงานทดแทนและพลังงานสะอาด (4) การร่วมมือและทำงานร่วมกันในประเด็นที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในบริบทของการทำให้การประชุม Copenhagen Conference to the State Parties to the UNFCCC ซึ่งเป็นเวทีการประชุมระดับโลกเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประสบความสำเร็จ
  • ที่ประชุมเห็นชอบกับวันที่ไทยเสนอให้จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน +3 และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก โดยจะเป็นวันที่ 24 ต.ค.2552

2. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกับประเทศคู่เจรจา (เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552)

  • รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้พบหารือกับ 10 รัฐมนตรีต่างประเทศของคู่เจรจาเป็นรายกลุ่ม/ประเทศ โดยการหารือเป็นไปในเชิงบวก และสะท้อนถึงความตั้งใจของอาเซียนและคู่เจรจาที่เสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกัน รวมถึงความเป็นหุ้นส่วนในด้านต่างๆ เพื่อรับมือกับปัญหาท้าทายต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
  • คู่เจรจาหลายประเทศมีความสนใจเป็นพิเศษที่จะกระชับความร่วมมือกับอาเซียนในการสร้างประชาคมและลดช่องว่างการพัฒนาของประเทศสมาชิกอาเซียน
  • ในการประชุมครั้งนี้ หนึ่งในการลงนามในเอกสารที่สำคัญ ได้แก่ การที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ลงนามเพื่อเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (22 กรกฎาคม 2552) ซึ่งถือตอกย้ำถึงตั้งใจของสหรัฐฯ ในการมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • เอกสารอื่นๆ ที่สำคัญที่ได้มีการลงนามในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ (1) บันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลียว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลียระยะที่ 2 (Second Phase of ASEAN and Australia Development Cooperation Program — AADCP II) และ (2) บันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนกับรัสเซียว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์อาเซียนในสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกรุงมอสโก (Moscow State Institute of International Relations — MGIMO)

3. การประชุมอาเซียนว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค (ASEAN Regional Forum — ARF) ครั้งที่ 16 (เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2552)

  • ตัวแทนกลุ่ม/ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมทั้ง 27 ประเทศ/องค์กร ได้แลกเปลี่ยนทัศนะกันอย่างเปิดเผยและเต็มไปด้วยสาระในประเด็นในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่เป็นความกังวลร่วมกัน ดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ของประธาน ARF ครั้งที่ 16
  • แม้ว่าผู้เข้าร่วมประชุมจะมีท่าทีที่แตกต่างกันในบางเรื่อง แต่ในภาพรวม ผู้เข้าร่วมประชุมต่างก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเห็นว่า ควรเสริมสร้างให้ ARF มีบทบาทในเชิงรุกมากยิ่งขึ้นในการรับมือกับปัญหาท้าทายต่างๆ ที่กระทบต่อเสถียรภาพของภูมิภาค รวมทั้งในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความร่วมมือของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค
  • ในโอกาสนี้ ที่ประชุมได้รับรอง “เอกสารวิสัยทัศน์ของ ARF” (ARF Vision Statement) เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาและบทบาทของ ARF ภายในปี 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ ARF จะเป็นเสาหลักของการรักษาสภาพแวดล้อมทางการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคที่เติบโตอย่างมีพลวัตร และจะเป็นกลไกที่มุ่งปฏิบัติงานได้จริง (action-oriented mechanism) รวมถึงการที่ ARF จะสามารถปฏิบัติหน้าที่และแสดงบทบาทที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความท้าทายต่างๆ ที่ภูมิภาคมีร่วมกัน ทั้งนี้ กลุ่ม/ประเทศที่เข้าร่วม ARF จะหารือกันในโอกาสต่อไปเกี่ยวกับการแปลงวิสัยทัศน์ดังกล่าวให้มีผลในทางปฏิบัติ
  • ในประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่หลายท่านให้ความสนใจ —

(1) ประเด็นพม่า - ความรู้สึกของผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นไปในลักษณะที่คำนึงถึงมิตรภาพและการมีเจตนารมณ์ที่ดีระหว่างกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ บรรยากาศและทัศนคติในเรื่องนี้ของที่ประชุมเป็นไปในเชิงบวก ประเทศสมาชิกอาเซียน และผู้เข้าร่วมการประชุม ARF แสดงความต้องการที่จะร่วมมือกับพม่า และแสดงความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนพม่าในการดำเนินความพยายามเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความกินดีอยู่ดีของประชาชนชาวพม่า ในการนี้ ที่ประชุมจึงได้ร้องขอให้รัฐมนตรีต่างประเทศพม่า นำความรู้สึกห่วงใยและทัศนะของที่ประชุมครั้งนี้ไปรายงานต่อให้ผู้นำรัฐบาลพม่า นอกจากนี้ อาเซียนยังได้ย้ำถึงความตั้งใจของประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับพม่า รวมถึงกับสหประชาชาติและประชาคมระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ที่ประชุมก็หวังว่า พม่าจะตอบสนองต่อความห่วงใยและความกังวลของประชาคมระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน

(2) ในประเด็นเกาหลีเหนือ เป้าหมายหลักที่ที่ประชุมให้ความสำคัญคือ การนำมาซึ่งสันติภาพและความมั่นคง และการลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี ในการนี้ ที่ประชุมได้เรียกร้องให้เกาหลีเหนือกลับเข้าสู่การเจรจาหกฝ่าย มองไปข้างหน้า และพยายามหาทางออกร่วมกับทุกฝ่าย ในขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้หารือว่า เวที ARF จะสามารถทำอะไรได้อีกบ้างเพื่อช่วยส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลี

(3) ที่ประชุมสนับสนุนอินโดนีเซีย และประณามอย่างรุนแรงต่อเหตุการณ์การวางระเบิดในกรุงจาร์กาตา เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ซึ่งถือเป็นสิ่งเตือนใจของพวกเราว่า ปัญหาการก่อการร้ายยังคงเป็นภัยที่แท้จริงของสันติภาพและเสถียรภาพทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ ในการนี้ ที่ประชุมเห็นควรให้กระชับความร่วมมือในด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ปัญหาข้ามชาติอื่นๆ และการช่วยเหลือในกรณีภัยพิบัติ

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ