โฆษกกระทรวงการต่างประเทศตอบข้อซักถามเกี่ยวกับประเด็นปราสาทพระวิหาร

ข่าวต่างประเทศ Thursday July 30, 2009 14:02 —กระทรวงการต่างประเทศ

ตามที่มีการรายงานข่าวโดยสื่อหลายสำนักเกี่ยวกับข้อเรียกร้องและแถลงการณ์ของภาคีเครือข่ายติดตามสถานการณ์กรณีปราสาทเขาพระวิหาร นั้น นางสาววิมล คิดชอบ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้ตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน ในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ดังนี้

1. การยกเลิกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2551

ในรายงานข่าวมีการเสนอให้ไทยยกเลิกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ซึ่งตามข้อเท็จจริง ฝ่ายไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนคำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวสิ้นผลไปแล้ว และไทยกับกัมพูชาไม่มีพันธกรณีระหว่างกันตามแถลงการณ์ร่วมฯ อีก

ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการให้ประเทศสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกได้รับทราบถึงการระงับและการสิ้นผลของแถลงการณ์ร่วมฯ แล้ว และในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 32 ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ 2-10 กรกฎาคม 2551 คณะกรรมการมรดกโลกได้มีมติขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยระบุในข้อ 5 ของข้อมติว่า คำแถลงการณ์ร่วมฯ ต้องไม่นำมาใช้ในการพิจารณา

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ที่อนุมัติให้นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นลงนามในแถลงการณ์ร่วมแล้ว

2. แผนบริหารจัดการพื้นที่พัฒนาร่วม 1.5 ล้านไร่

รัฐบาลไทยยังไม่มีแผนที่จะเสนอให้มีการผนวกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของไทยจำนวน 1.5 ล้านไร่ เข้ากับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชา

3. การสัญจรรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

สิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการชี้แจงและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามมาตรา 190 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญฯ คือ เรื่องการเจรจาจัดทำข้อตกลงชั่วคราวเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาความตึงเครียดและหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งในบริเวณเขาพระวิหารในระหว่างรอผลการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ซึ่งไม่ได้มีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกหรือแถลงการณ์ร่วมฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2551 แต่อย่างใด ทั้งนี้ รัฐสภาได้มีมติเห็นชอบกรอบการเจรจาข้อตกลงชั่วคราวฯ แล้ว เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 ด้วยคะแนนเสียง 409 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 418 เสียง

กระทรวงการต่างประเทศขอยืนยันว่าในการเจรจาจัดทำข้อตกลงชั่วคราวฯ รัฐบาลได้ดำเนินการตามมาตรา 190 อย่างเคร่งครัด ตั้งแต่การขอกรอบเจรจา การชี้แจงข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการชี้แจงต่อรัฐสภาอย่างต่อเนื่อง

4. การสร้างรัฐกันชนในพื้นที่ใกล้ปราสาทพระวิหาร

กระทรวงการต่างประเทศขอยืนยันว่าไทยไม่เคยมีนโยบายที่จะสร้าง “รัฐกันชน” ขึ้นในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรใกล้ปราสาทพระวิหาร

5. การเจรจาพื้นที่เขตทางทะเลที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนกัน

แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่ได้รับการยกเลิกไปแล้ว ไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่เขตทางทะเลที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนกันแม้แต่น้อย ส่วนเรื่องข่าวว่ากัมพูชาให้สิทธิสัมปทานกับบริษัทฝรั่งเศสนั้น กระทรวงการต่างประเทศกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ อย่างไรก็ตามการให้สิทธิสัมปทานใดๆ ของรัฐบาลกัมพูชาจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของไทย และทั้งสองฝ่ายได้มีการตกลงไว้ตั้งแต่ปี 2518 ว่าจะไม่ให้ผู้รับสัมปทานในพื้นที่เขตทางทะเลที่อ้างสิทธิทับซ้อนเข้าไปดำเนินการสำรวจหรือพัฒนาแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมจนกว่าจะสามารถเจรจาหาข้อยุติเรื่องพื้นที่เขตทางทะเลที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนได้

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ