คำชี้แจงเรื่อง ขั้นตอนและสถานะปัจจุบันของการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างไทยกับกัมพูชาและผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา

ข่าวต่างประเทศ Monday September 14, 2009 11:43 —กระทรวงการต่างประเทศ

1. เมื่อปี 2543 รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก (MOU) ซึ่งมอบหมายให้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Boundary commission : JBC) เป็นกลไกสำหรับการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างไทยและกัมพูชาตลอดแนว นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการทำงานของ JBC จึงได้มีการตั้งองค์กรต่างๆ เพื่อช่วยการดำเนินงาน ประกอบด้วย คณะอนุกรรมาธิการเทคนิคร่วมไทย-กัมพูชา คณะปฏิบัติงาน และชุดสำรวจ โดย JBC ได้จัดทำเป็นข้อกำหนดอำนาจหน้าที่และแผนแม่บท (Terms of Reference and Master Plan for the Joint Survey and Demarcation of Land Boundary : TOR) ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุม JBC สมัยวิสามัญ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2546

2. TOR กำหนดขั้นตอนต่างๆ สำหรับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนร่วมกันเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้

1) การค้นหาที่ตั้งและสภาพของหลักเขตแดนเดิม 73 หลัก รวมถึงการซ่อมแซม

หลักเขตแดนเดิม

2) การจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ (Orthophoto Maps) มาตราส่วน 1 : 25,000 ตลอดแนวเขตแดน

3) การลากแนวที่จะเดินสำรวจบนแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ

4) การตรวจสอบภูมิประเทศ

5) การปักหลักเขตแดน

3. การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างไทยกับกัมพูชาได้เริ่มสำรวจตั้งแต่กลางปี 2549 และปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนที่ 1 ของ TOR โดยชุดสำรวจร่วมได้สำรวจหลักเขตแดนเดิมไปแล้วจำนวน 48 หลักจาก 73 หลัก ตั้งแต่หลักเขตแดนที่ 23 — 70 ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์บางส่วน จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราดบางส่วน และได้จัดทำผลการสำรวจเป็นสามภาษาก่อนที่จะเสนอให้

JBC พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ผลการสำรวจดังกล่าวเป็นเพียงรายงานข้อเท็จจริงในภูมิประเทศและยังไม่มีผลในการกำหนดตำแหน่งหลักเขตแดนที่ถูกต้องแต่อย่างใด

4. เนื่องจากขณะนี้ JBC ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ 1 ของ TOR จนใกล้จะแล้วเสร็จ จึงได้มี

การหารือวางแผนการดำเนินการขั้นต่อไป โดยจากผลการประชุม JBC จำนวน 3 ครั้งล่าสุด ที่ประชุมได้ตกลงให้เริ่มขั้นตอนที่ 2 ได้แก่ การจัดทำภาพถ่ายทางอากาศ และได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เทคนิคหารือกันในเรื่องนี้ต่อไปโดยเร็วที่สุด

5. นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาว่าขณะนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาบริเวณใกล้ปราสาทพระวิหาร ที่ประชุม JBC จึงได้จัดชุดสำรวจร่วมให้มาทำการสำรวจในพื้นที่การสำรวจตอนที่ 6 (ระหว่าง

หลักเขตแดนที่ 1 บริเวณช่องสะงำ ถึงเขาสัตตะโสม) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวยังไม่เคยมีการปักหลักเขตแดนไว้ในอดีตสมัยสยาม-ฝรั่งเศส จึงจำเป็นต้องมอบหมายให้คณะเจ้าหน้าที่เทคนิคของทั้งสองฝ่ายประชุมจัดทำคำแนะนำทางเทคนิคก่อนเริ่มสำรวจร่วม และ JBC จะประชุมเพื่อพิจารณาประเด็นด้านกฎหมายเกี่ยวกับพื้นที่ดังกล่าวด้วย

6. จะเห็นได้ว่าการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนมีขั้นตอนหลายขั้นตอนและอาจใช้เวลานาน และ

การดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ที่ผ่านมาทั้งหมดยังไม่มีผลเป็นการกำหนดเขตแดน แต่เป็นการดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้ JBC สามารถเจรจาหาข้อสรุปเพื่อจัดทำเป็นความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับผลการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา และจะต้องนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบก่อน

7. กระทรวงการต่างประเทศกำลังเสนอบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา จำนวน 3 ฉบับ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 กุมภาพันธ์ 2552 และเมษายน 2552 เสนอขอความเห็นชอบของรัฐสภา หากได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ก็จะได้แจ้งแจ้งยืนยันโดยช่องทางการทูตให้บันทึกการประชุม

ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวมีผล เพื่อให้กระบวนการเจรจาเรื่องเขตแดน และการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ในกรอบคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ดำเนินต่อไปได้ อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ร่วมกันของทั้งไทยและกัมพูชาที่จะระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศที่มีอยู่อย่างสันติวิธี และเพื่อที่จะให้การดำเนินงานสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา เป็นไปเพื่อป้องกันมิให้ปัญหาเขตแดนเป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้อีกทางหนึ่ง

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ