ตามที่ในช่วงที่ผ่านมามีการตั้งคำถามกันในหมู่สื่อมวลชน เกี่ยวกับการดำเนินงานของไทยกรณีปราสาทพระวิหารและกรณีกัมพูชาให้สัมปทานสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยแก่บริษัทต่างชาตินั้น เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2552 เวลา 17.30 น. นายวศิน ธีรเวชญาณ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศด้านกฎหมายและเขตแดน ในฐานะประธานฝ่ายไทยคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) และประธานฝ่ายไทยคณะกรรมการด้านเทคนิคร่วมไทย-กัมพูชา (JTC) ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวที่กระทรวงการต่างประเทศ สรุปสาระสำคัญของการตอบคำถามได้ ดังนี้
1. กรณีมีข่าวว่ารัฐบาลกัมพูชาได้ให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนพื้นที่ “Area IV” ซึ่งเป็นพื้นที่เขตทางทะเลที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนกัน
- กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเลให้สิทธิประเทศที่มีชายฝั่งในการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะออกไปเป็นระยะทาง 200 ไมล์ทะเล และเขตไหล่ทวีป ยกเว้นในกรณีที่มีประเทศอื่นอยู่ติดหรืออยู่ตรงข้าม ซึ่งจะต้องมีการเจรจาแบ่งเขตให้ได้ข้อยุติที่เป็นธรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ
- เขตไหล่ทวีปที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนกันในบริเวณอ่าวไทยเกิดจากการที่กัมพูชาและไทยต่างฝ่ายต่างประกาศเขตไหล่ทวีปของตนในปี พ.ศ. 2515 และ 2516 ตามลำดับ ซึ่งขณะนี้ รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาอยู่ในระหว่างการเจรจาแบ่งเขตทางทะเลและการพัฒนาทรัพยากร ธรรมชาติใต้ท้องทะเลร่วมกัน โดยมีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (Joint Technical Committee) เป็นกลไกหลัก
- การให้สัมปทานในพื้นที่เขตทางทะเลที่อ้างสิทธิทับซ้อนไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะต่างฝ่ายต่างให้สัมปทานในพื้นที่ดังกล่าวมานานแล้ว อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าไปสำรวจหรือดำเนินการใดๆ ในพื้นที่เขตทางทะเลทับซ้อนได้จนกว่าการเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาจะได้ข้อยุติ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติระหว่างประเทศ และความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างไทย กัมพูชา และผู้ประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานต่างก็รับทราบแนวปฏิบัติซึ่งเป็นสากลนี้เป็นอย่างดี เนื่องจากทั่วโลกมีพื้นที่เขตทางทะเลที่ยังตกลงแบ่งเขตกันไม่ได้มากกว่า 200 บริเวณ
- ตามที่มีข่าวว่ารัฐบาลกัมพูชาได้ให้สัมปทานน้ำมันในพื้นที่ “Area III” แก่บริษัท Total และสัมปทานในพื้นที่ “Area IV” แก่บริษัทมิตซุยออยล์ (MO ECO) นั้น ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ ซึ่งในกรณีบริษัท Total นั้น จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการลงนามทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด
- แท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเลมีขนาดใหญ่และใช้เวลาสร้างเป็นแรมปี การเข้ามาลักลอบสำรวจ
ขุดเจาะจึงเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ รัฐบาลไทยโดยกองทัพเรือได้มีการลาดตระเวนบริเวณพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนอยู่เป็นประจำ และจนถึงปัจจุบันก็ไม่มีรายงานการรุกล้ำของผู้ประกอบการสำรวจ
และขุดเจาะน้ำมันแต่ประการใด
- อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2552 กระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทย ยืนยันสิทธิของไทยตามขอบเขตพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิในปี 2516
- เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 สถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ได้มีหนังสือตอบหนังสือแสดงข้อห่วงกังวลของไทย กรณีกัมพูชาให้สัมปทานแก่บริษัทโตตาลในพื้นที่เขตทางทะเลที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนกัน โดยมีใจความว่า
1) รัฐบาลกัมพูชาได้ให้สัญญาปิโตรเลียมที่มีเงื่อนไข (Conditional Petroleum Agreements - CPA) แก่บริษัทโตตาลภายในไหล่ทวีปภายใต้สิทธิอธิปไตยของกัมพูชาตามที่อ้างสิทธิในปี ค.ศ. 1972
2) สัญญาปิโตรเลียมดังกล่าวได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงว่ามีการอ้างอธิปไตยทับซ้อนในเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทย และการเจรจาระหว่างกัมพูชากับไทยในเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ
3) สัญญาปิโตรเลียมที่กัมพูชาเสนอจะให้จะเคารพสิทธิสิทธิทางกฎหมายของประเทศทั้งสองระหว่างรอการตกลงเกี่ยวกับการเข้าถึงทรัพยากรในพื้นที่ไหล่ทวีปที่อ้างสิทธิทับซ้อน ซึ่งต่างจากสัมปทานที่ฝ่ายไทยให้ซึ่งไม่อยู่บนเงื่อนไขของผลการแก้ไขประเด็นการอ้างสิทธิทับซ้อน
4) ภายใต้เงื่อนไขของสัญญาผิโตรเลียม จะไม่ให้ทำการสำรวจหรือแสวงประโยชน์จนกระทั่งกัมพูชาและไทยจะตกลงถึงทางออกของการอ้างสิทธิทับซ้อนหรือการพัฒนาร่วม ดังที่กล่าวไว้โดย นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชา ระหว่างการพบปะกับ ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2552 5) สัญญาปิโตรเลียมจะกระทบต่อผลประโยชน์ด้านอธิปไตยและด้านเศรษฐกิจของกัมพูชาแต่ไม่กระทบสิทธิของรัฐอื่นยกเว้นรัฐนั้นจะเห็นพ้อง
2. กรณีการก่อสร้างถนนใกล้บริเวณปราสาทพระวิหาร
- ตามที่ปรากฏการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการที่รัฐบาลปล่อยให้เสียดินแดนในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรบริเวณปราสาทพระวิหารเนื่องจากฝ่ายกัมพูชาได้สร้างถนน ตลาด และวัดตลอดจนมีประชาชนกัมพูชามาอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วย และประเทศไทยไม่ได้ขับไล่บุคคลดังกล่าวออกจากพื้นที่และรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ
- โดยปกติ ในประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกันก็จะมีการอ้างสิทธิในดินแดนที่มีความคาบเกี่ยวกันหรือยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยต่างฝ่ายต่างก็อ้างสิทธิเหนือดินแดนและแสดงอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนในรูปแบบต่างๆ เช่นเดียวกับในบริเวณพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ต่างฝ่ายต่างก็แสดงอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนดังกล่าว
- ฝ่ายกัมพูชาได้ก่อสร้างวัด ถนน ตลาด และมีประชาชนกัมพูชาอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวซึ่งเป็นการแสดงสิทธิของกัมพูชาเหนือพื้นที่พิพาท ในขณะที่ฝ่ายไทยมีแนวทางในการดำเนินงานต่อเรื่องดังกล่าวอย่างสันติ อาทิ การประท้วงและมาตรการอื่นๆ ที่มีความเข็มข้นขึ้น อาทิ การปิดจุดผ่อนปรน
- ในทางปฏิบัติของไทย การประท้วงจะเริ่มจากหน่วยงานในท้องถิ่น อาทิ หน่วยงานประสานงานชายแดนประจำพื้นที่ 1 กองบัญชาการกองกำลังสุรนารี และจังหวัดสระแก้ว หลังจากนั้น ก็จะรายงานมายังหน่วยบังคับบัญชาของตน หากหน่วยบังคับบัญชาเห็นว่าควรมีการประท้วงในระดับรัฐบาลก็จะมีหนังสือแจ้งให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการต่อไป ในขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศก็ได้รับแจ้งเรื่องจากหน่วยงานระดับท้องถิ่นเพื่อติดตามสถานการณ์ด้วย
- เมื่อกระทรวงการต่างประเทศได้รับเรื่องแล้ว ก็จะพิจารณาความเหมาะสมและโอกาสในประท้วง โดยคำนึงถึงผลของการประท้วงเป็นสำคัญ กระทรวงการต่างประเทศได้ประท้วงในเรื่องการก่อสร้างต่างๆ ในบริเวณดังกล่าวทั้งหมด 8 ครั้งโดยส่งหนังสือประท้วงโดยตรงกับฝ่ายกัมพูชาและในเวทีระหว่างประเทศ
- การประท้วงถือว่ามีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายระหว่างประเทศในการรักษาสิทธิและอธิปไตยของประเทศ โดยถึงแม้กัมพูชาจะมีการสร้างถนน ตลาด วัด และชุมชนอยู่ในพื้นที่ก็ตาม ประเทศไทยเลือกใช้แนวทางการเจรจาซึ่งเป็นเป็นการยุติข้อพิพาทโดยสันติวิธีอันเป็นหลักการที่ยอมรับในอารยประเทศ
รวมหนังสือประท้วงกัมพูชา เกี่ยวกับการก่อสร้างในบริเวณใกล้ปราสาทพระวิหาร 2547-2552
25 พฤศจิกายน 2547 ชุมชนและการก่อสร้างที่พัก, การบริหารจัดการขยะและน้ำเสีย
8 มีนาคม 2548 การก่อสร้างถนนจากบ้านโกมุย
17 พฤษภาคม 2550 การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร
10 เมษายน 2551 การขึ้นทะเบียนมรดกโลก, การก่อสร้างถนน, การก่อสร้างต่างๆ ของชุมชน
12 พฤศจิกายน 2551 การตั้งเสาธงชาติและธงยูเนสโก, การก่อสร้างป้ายบริเวณแนวบันไดปราสาทพระวิหาร
10 มีนาคม 2552 การก่อสร้างถนน
26 มีนาคม 2552 การก่อสร้างห้องน้ำและอาคารบริเวณ “วัดแก้วฯ”
22 กันยายน 2552 สิ่งปลูกสร้างบริเวณบันไดเชิงปราสาทพระวิหาร
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--