รมว.ต่างประเทศ เป็นประธานร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-กลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง(MERCOSUR)

ข่าวต่างประเทศ Monday September 28, 2009 13:51 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2552 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เป็นประธานร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-กลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (MERCOSUR) ตลอดจนเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-กลุ่มประเทศความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) การประชุมระดับรัฐมนตรี Interfaith Dialogue and Cooperation for Peace ครั้งที่ 4 และพบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์ คาซัคสถาน บอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา และซาน มารีโน

ในการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-กลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (MERCOSUR) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย (ในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-MECOSUR) ได้เป็นประธานการประชุมฯ ร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอุรุกวัย ผู้เข้าร่วมของทั้งสองฝ่ายหารือกันถึงการจัดทำแผนงานแนวทางความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งอาจรวมถึงการขนส่งทางทะเลและทางอากาศ การปลูกป่า พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ไฟฟ้าพลังน้ำ และการประมง เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ตกลงที่จะเร่งยกร่างแผนงานความร่วมมือระหว่างกัน โดยมอบให้เจ้าหน้าที่อาวุโสพิจารณาสาขาความร่วมมือที่เหมาะสมเพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมระดับรัฐมนตรีฯ ครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในเดือนมิถุนายน 2553

ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-กลุ่มประเทศความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ที่ประชุมฯได้หารือถึงการพิจารณาจัดทำแผนงาน 2 ปี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองภูมิภาคในด้านต่างๆ ซึ่งฝ่ายไทยได้ขอให้สำนักเลขาธิการของทั้งสององค์กรประสานงานกับประเทศสมาชิกในเรื่องนี้ เพื่อให้สามารถลงนามแผนงานดังกล่าวได้ในการประชุมระดับรัฐมนตรีฯ ที่สิงคโปร์ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม-ต้นเดือนมิถุนายน 2553

ในการประชุมระดับรัฐมนตรี Interfaith Dialogue and Cooperation for Peace ครั้งที่ 4 ที่ประชุมฯ ได้หารือถึงการติดตามความคืบหน้าความร่วมมือตาม “2005 Declaration on Interfaith Dialogue and Cooperation for Peace” โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจและการยอมรับความแตกต่างทางศาสนา และเห็นพ้องที่จะให้มีการจัดประชุมสุดยอดอย่างไม่เป็นทางการฯ ครั้งที่ 2 เพื่อทบทวนความร่วมมือระหว่างกันในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 65 ในปี 2553

ในการพบหารือทวิภาคีกับนาย Ahmed Aboul Gheit รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์ ทั้งสองฝ่ายหารือถึงการใช้สถานเอกอัครราชทูตไทยในอียิปต์เป็นศูนย์กลางภาพรวมในภูมิภาค (regional center) และศูนย์กลางการติดต่อธุรกิจของไทยกับภูมิภาคแอฟริกาเหนือและเมดิเตอร์เรเนียน นอกจากนี้ ไทยชื่นชมการที่อียิปต์ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Al-Azhar ที่กรุงไคโร ซึ่งจนถึงขณะนี้มีนักศึกษาไทยอยู่ในอียิปต์เกือบ 2,500 คน โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความร่วมมือระหว่างกันในกรอบองค์การการประชุมอิสลาม (OIC) และรัฐมนตรีต่างประเทศอียิปต์ได้เชิญให้รัฐมนตรีว่าการฯ เดินทางเยือนอียิปต์ในฐานะแขกของตนด้วย

ในการพบหารือกับนาย Kanat Saudabayev รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคาซัคสถาน ฝ่ายคาซัคสถานแสดงความชื่นชมบทบาทของไทยในฐานะประธานอาเซียน และประสงค์ที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์กับอาเซียนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และขอรับการสนับสนุนการเสนอร่างข้อมติให้สหประชาชาติกำหนดวันที่ 29 สิงหาคม เป็นวัน nuclear-free ระหว่างประเทศ ซึ่งในเรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการฯ แจ้งว่า ไทยยินดีสนับสนุน ส่วนในด้านความร่วมมือทวิภาคี ไทยสนใจจะกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะพลังงาน การค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับคาซัคสถาน รวมทั้งเสนอให้มีกลไกการปรึกษาหารือทางการเมืองระหว่างกันต่อไป

ในการพบหารือกับนาย Sven Alkalaj รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบอสเนีย ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนความเห็นกันถึงการส่งเสริมความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสาขาที่น่าสนใจรวมถึงพลังงาน สินค้าเกษตร สินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนรถยนต์ การก่อสร้างและวิศวกรรม และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ไทยสนใจจะส่งเยาวชนไทยมุสลิมเดินทางมาศึกษาที่บอสเนีย ซึ่งฝ่ายบอสเนียแสดงความสนับสนุนแนวความคิดดังกล่าว

ในการพบหารือกับ Ms. Antonella Mularoni รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาน มารีโน รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเห็นชอบในหลักการที่จะอนุญาตให้บุคคลที่ถือหนังสือเดินทางซาน มารีโนสามารถขอรับการตรวจลงตราประเภท Visa on Arrival เพื่อเข้ามาพำนักในประเทศไทยได้เป็นเวลา 15 วัน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะติดตามความคืบหน้าเรื่องข้อเสนอของซาน มารีโนในการจัดทำอนุสัญญาหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้อนและการหลบเลี่ยงภาษีเงินได้ระหว่างไทย-ซานมารีโนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะแจ้งความคืบหน้าให้ฝ่ายซาน มารีโนทราบต่อไป นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องว่า อาจมีความร่วมมือกันต่อไปในเรื่องการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ