สรุปคำกล่าวปาฐกถาของนายกรัฐมนตรี ณ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย หัวข้อ Post Crisis Thailand: Building a New Democratic Society วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๒

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 29, 2009 13:46 —กระทรวงการต่างประเทศ

๑. นรม. ได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสังคมไทยภายหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกและการเมืองภายในโดยได้อธิบายเหตุผลของการเลือกหัวข้อนี้ว่า เราจะต้องรู้ว่าเราต้องการเห็นสังคมไทยเป็นอย่างไรในอนาคต แล้วจึง จะสามารถจัดวางวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้นได้ ทั้งนี้ เราจะต้องมองภาพกว้าง (wider picture) แทนที่จะจำกัดตัวเองอยู่กับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

๒. นรม. ตั้งคำถามว่าการประท้วงต่างๆที่มีอยู่ในประเทศไทย แสดงถึงความล้มเหลวของประชาธิปไตยยของไทยหรือไม่ ซึ่ง นรม. เห็นว่า ไม่ แต่ในทางตรงกันข้ามประชาธิปไตยของไทยกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น โดยประชาชนทุกภาคส่วนและทุกระดับมีความตระหนักรับรู้และมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยไม่ปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของคนเพียงไม่กี่คน ทั้งนี้ นรม. ได้กล่าวถึงเมื่อตอนที่นางฮิลลารี คลินตัน รมว.กต. สหรัฐฯ ได้เดินทางมาเยือนไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๒ ซึ่งได้กล่าวถึงการเมืองไทยว่า as spicy as its food

๓. นรม. กล่าวว่า แม้ว่าคนไทยจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันทางการเมือง แต่ก็มีฉันทามติว่า เรายึดมั่นในวิถีประชาธิปไตยและเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยจะนำมาสู่สันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน และแม้แต่ในสังคมประชาธิปไตยที่มั่นคงแล้วก็ยังเคยผ่านช่วงเวลาที่สับสนและไม่แน่นอนมาก่อน

๔. นรม. ได้กล่าวถึง ปัจจัยต่างๆ ที่จะนำไปสู่สังคมประชาธิปไตยแบบใหม่ ซึ่งเน้นระบอบเสรีประชาธิปไตย ดังนี้ (๑) การให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นหลัก (๒) ความสมานฉันท์และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย (๓) การเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและเศรษฐกิจโลก ซึ่งนรม. ได้กล่าวถึงบทบาทไทยในการเป็นประธานอาเซียน (๔) หลักธรรมาภิบาล และการเคารพกฎหมาย (๕) นโยบายเศรษฐกิจอันมีประสิทธิภาพและการสนับสนุนบทบาทของภาคเอกชน ในฐานะฟันเฟืองหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (๖) ความคิดสร้างสรรค์และการมีวิสัยทัศน์ และ ๗) การศึกษา ซึ่งรวมถึงการศึกษาในโรงเรียนและการศึกษาตลอดชีวิต อีกทั้ง การศึกษาเป็นพื้นฐานในการเข้าถึงและเข้าใจประชาธิปไตย

๕. เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน อาจมีผู้คิดว่าคงเป็นการยากที่จะบรรลุสังคมประชาธิปไตยแบบใหม่นี้ แต่ นรม. มีความตั้งใจจริงในการสร้างสังคมประชาธิปไตย และวางรากฐานสำหรับการสานต่อเจตนารมณ์นี้ต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ในสหรัฐฯ ซึ่งประชาธิปไตยหยั่งรากลึก ประชาชนอาจเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป แต่ในประเทศประชาธิปไตยใหม่ทั่วโลก ประชาชนยังคงต้องผ่านกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยนี้

๖. ผู้เข้าร่วมได้สอบถามในประเด็นต่างๆ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาภาคใต้ การทำให้ประชาชนในชนบทเข้าใจและสนับสนุนรัฐบาล บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ บทบาทของทหาร ปัญหาพระวิหาร พระพลานามัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วิสัยทัศน์ของ นรม. ต่ออุตสาหกรรมที่ไทยควรพัฒนา และการที่สหรัฐฯ ประกาศให้ความช่วยเหลือทวิภาคีไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นในด้านการพัฒนาประชาธิปไตย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ