ข้อคิดเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เรื่องพัฒนาการล่าสุดเกี่ยวกับพม่า

ข่าวต่างประเทศ Thursday October 1, 2009 13:25 —กระทรวงการต่างประเทศ

ไทยขอแสดงความยินดีกับเลขาธิการสหประชาชาติสำหรับความคิดริเริ่ม และความสำเร็จในการจัดการประชุมระดับสูงของ Group of Friends of UNSG ว่าด้วยเรื่องพม่า ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2552 ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ผลการประชุมดังกล่าวสะท้อนฉันทามติของผู้เข้าร่วมประชุมว่า นอกเหนือจากการใช้แนวทางอื่น ๆ แล้ว ที่ประชุมเห็นว่ามีความจำเป็นต้องเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์ (engagement) กับพม่าให้มากขึ้น

ดังนั้น ไทยจึงขอย้ำเจตนารมณ์ในการสนับสนุนบทบาทการดำเนินงาน (good offices) ของเลขาธิการสหประชาชาติในเรื่องพม่าอย่างเต็มที่

ในการนี้ ไทยยินดีกับการทบทวนนโยบายต่อพม่าของสหรัฐฯ ตามที่นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ให้แนวทางไว้ในช่วงการประชุม Group of Friends of UNSG ว่าด้วยเรื่องพม่าดังกล่าว และต่อมา นายเคิร์ท แคมป์เบล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ประกาศท่าทีดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2552 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อประกันให้พม่าเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้อย่างราบรื่น และเข้ามีส่วนรวมในประชาคมระหว่างประเทศในฐานะสมาชิกที่มีความรับผิดชอบ

ไทยและอาเซียนยึดแนวทางการมีปฏิสัมพันธ์กับพม่ามาโดยตลอด เพื่อผลประโยชน์ของพม่าและประชาชนชาวพม่าโดยรวม ในการนี้ ไทยจึงพร้อมที่จะร่วมดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับอาเซียน สหรัฐฯ องค์การสหประชาชาติ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ เพื่อให้การมีปฏิสัมพันธ์กับพม่าเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และในลักษณะประสานสอดรับซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดพัฒนาการทางการเมืองที่มีเนื้อหาสาระอย่างจริงจังในพม่า

ไทยหวังด้วยความจริงใจว่า พม่าจะคงดำเนินการให้เกิดความคืบหน้าในทิศทางที่สมควรต่อไป ดังที่นายกรัฐมนตรีพม่าได้กล่าวไว้ระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ สมัยที่ 64 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2552 และจะดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม พัฒนาการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดเสถียรภาพและความรุ่งเรืองของภูมิภาคโดยรวมด้วย

การที่ทางการพม่าปล่อยตัวนักโทษ ซึ่งรวมนักโทษการเมืองบางคน เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2552 อาจถือได้ว่าเป็นพัฒนาการเชิงบวกประการหนึ่ง ในการก้าวไปในทิศทางที่สมควรเพื่อไปสู่สังคมประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี พม่ายังจำเป็นต้องมีการดำเนินการมากกว่านี้เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดระบบการเมืองที่ทุกฝ่ายสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ และช่วยให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของพม่าที่ยั่งยืนในระยะยาวต่อไป

ไทยขอเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการพัฒนาแก่พม่า กลุ่มแกนนำสามฝ่าย (Tripartite Core Group หรือ TCG ซึ่งประกอบด้วยอาเซียน สหประชาชาติ และพม่า) ได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนชาวพม่า และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนนาร์กีส อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องระดมทุนช่วยเหลือแผนฟื้นฟูและเตรียมความพร้อมหลังภัยพิบัติไซโคลนนาร์กีส (Post-Nargis Recovery and Preparedness Plan หรือ PONREPP) ให้มากขึ้น โดยในระยะยาวแล้วอาจใช้ประโยชน์จากแนวปฏิบัติที่ดีต่าง ๆ ของกลุ่มแกนนำสามฝ่าย (TCG) ซึ่งน่าจะเป็นพื้นฐานที่สามารถใช้ปฏิบัติได้สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนของพม่าต่อไป

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ