การเสด็จเยือนประเทศไทยของดยุกแห่งยอร์กแห่งสหราชอาณาจักร ในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ 6—10 ตุลาคม 2552

ข่าวต่างประเทศ Monday October 5, 2009 11:44 —กระทรวงการต่างประเทศ

เจ้าชายแอนดรูว์ อัลเบิร์ต คริสเตียน เอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งยอร์กแห่งสหราชอาณาจักร ในฐานะผู้แทนพิเศษทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ (Special Representative for International Trade and Investment) ของสำนักงานการค้าและการลงทุนของสหราชอาณาจักร ( United Kingdom Trade and Investment: UKTI) จะเสด็จเยือนประเทศไทยพร้อมด้วยคณะนักธุรกิจสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 6 — 10 ตุลาคม 2552

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระมหากรุณาทรงรับดยุกแห่งยอร์กเป็นพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ โดยในระหว่างการเสด็จเยือนประเทศไทยของดยุกแห่งยอร์กครั้งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานพระราชวโรกาสให้ดยุกแห่งยอร์กเข้าเฝ้าฯ ในวันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม 2552 เวลา 16.00 น. ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทาน พระราชวโรกาสให้ดยุกแห่งยอร์กเข้าเฝ้าฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม 2552 เวลา 17.30 น. ณ วังสระปทุม

ในการนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะเข้าเฝ้าและถวายเลี้ยงพระกระยาหารกลางวันแด่ ดยุกแห่งยอร์กในวันพุธที่ 7 ตุลาคม 2552 ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยจะมีนักธุรกิจชั้นนำของไทยและสหราชอาณาจักรเข้าร่วมด้วย

นอกจากนี้ ดยุกแห่งยอร์กพระราชทานพระวโรกาสให้นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล? รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าเฝ้าในวันพุธที่ 7 ตุลาคม 2552 ณ โรงแรมที่ประทับ และพระราชทานพระวโรกาสให้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าเฝ้าและถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำในวันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม 2552

การเสด็จเยือนประเทศไทยของดยุกแห่งยอร์กในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 6 (การเสด็จครั้งล่าสุดมีขึ้นระหว่างวันที่ 5 — 8 ธันวาคม 2550 ในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ เพื่อทรงเชิญพระราชสาส์นส่วนพระองค์จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหราชอาณาจักรให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มพูนความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรอันยาวนานมีความแน่นแฟ้นในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับพระราชวงศ์ รัฐบาล ข้าราชการ และประชาชน โดยในปัจจุบัน รัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ผลักดันให้มีความร่วมมือระหว่างกันในหลากหลายสาขาให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น อาทิ การเจรจาจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมไทย-สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นแผนแม่บทในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง และการเจรจาแก้ไขอนุสัญญาว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุนระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นกรอบกฎหมายที่จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจของทั้งสองประเทศ

ในด้านความสัมพันธ์ด้านการค้า สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในสหภาพยุโรป โดยเมื่อปี 2551 มีมูลค่าการค้ารวม 5, 778 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.42 จากปี 2550 (คิดเป็นร้อยละ 1.62 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย) โดยไทยส่งออกไปสหราชอาณาจักร มูลค่า 3, 970 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่นำเข้าจากสหราชอาณาจักร มูลค่า 1, 808 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้ดุลการค้า 2,162 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในด้านการลงทุน สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสิรมการลงทุน (BOI) มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของสหภาพยุโรป โดยมีมูลค่าการลงทุน 9,004 ล้านบาท (ประมาณ 257 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสาขาส่วนประกอบและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ บริษัทใหญ่ที่ลงทุนอยู่ในประเทศไทยได้แก่ Tesco, Boots, Standard Chartered, BP, Triumph Motorcycles, ICI, Castrol, GKN, Thames Water, Grampion Country Food และ Meyer เป็นต้น โดย UKTI ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มของตลาดที่มีการเติบโตสูง (high-growth market)

ในด้านการท่องเที่ยว ปรากฏว่า ในปี 2551 มีนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรเดินทางมาประเทศไทยจำนวน 812,057 คน นับเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของยุโรป ในขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปสหราชอาณาจักรจำนวน 84,827 คน

นอกจากความสำคัญด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวแล้ว ประเทศไทยกับสหราชอาณาจักรยังมีความร่วมมือด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างกัน โดยเฉพาะในด้านการศึกษา พบว่ามีนักเรียนและนักศึกษาไทยที่สนใจศึกษาในสหราชอาณาจักรมากขึ้นทุกปี โดยจะเป็นการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม บริหารธุรกิจ และศิลปศาสตร์ เป็นต้น

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

แท็ก Investment   Trade   tat  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ