รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 2

ข่าวต่างประเทศ Monday October 5, 2009 11:49 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2552 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อทบทวนความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นและหารือทิศทางในอนาคต ภายใต้หัวข้อหลัก “ลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น: หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา” โดยมีนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชาเป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยนายคัทสึยะ โอคาดะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ดร. ทองลุน สีสุลิดรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายญาณ วิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพม่า และนายด่าว เวียด จุ่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามเข้าร่วมการประชุม ในโอกาสนี้รัฐมนตรีของประเทศผู้เข้าร่วมประชุมได้เข้าเยี่ยมคารวะสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาอีกด้วย

ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ยืนยันที่จะสานต่อบทบาทในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาร่วมกับญี่ปุ่นในกรอบความร่วมมือนี้อย่างแข็งขัน ทั้งในด้านการเงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในรูปของเงินให้เปล่าและเงินกู้ผ่านสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) โดยส่งเสริมให้ดำเนินการควบคู่ไปกับกรอบความร่วมมือที่ประเทศลุ่มน้ำโขงได้ดำเนินการอยู่แล้ว อาทิ โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และโครงการภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) เป็นต้น สนับสนุนบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา อาทิ สถาบัน Mekong Institute (MI) ตลอดจนสนับสนุนความร่วมมือในลักษณะการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนโดยสนับสนุนให้เอกชนของญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอแนวทางความร่วมมือในอนาคตโดยให้เร่งพัฒนาใน 3 สาขา ซึ่งได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ เห็นว่าญี่ปุ่นอาจให้ความช่วยเหลือ ในการปลูกป่าทดแทนตามแนวลุ่มน้ำโขง การจัดการและการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งของแม่น้ำโขง

ที่ประชุมตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของหุ้นส่วนการพัฒนาและองค์กรผู้ให้ อาทิ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากทั้งญี่ปุ่นและไทย และยังชื่นชมคำมั่นของไทยในการสนับสนุนการพัฒนาในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงด้วยการให้ความช่วยเหลือในสาขาต่าง ๆ ตั้งแต่การพัฒนาระบบการขนส่งจนถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ที่ประชุมชื่นชมที่ญี่ปุ่นเพิ่มความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการต่อประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างต่อเนื่องผ่านกองทุนร่วมญี่ปุ่น-อาเซียน

นอกจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจแล้ว ที่ประชุมยังย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมการติดต่อระหว่างประชาชนและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม โดยได้กำหนดให้ปี 2552 เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนแม่โขง — ญี่ปุ่นซึ่งมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมและวิชาการ

ที่ประชุมยังเห็นความสำคัญของความร่วมมือด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค และได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นระดับภูมิภาคและระดับโลก เช่น การรับมือกับโรคระบาดและภัยธรรมชาติ การปฏิรูปสหประชาชาติ เป็นต้น

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังเห็นชอบต่อการที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งแรก ณ กรุงโตเกียว ในวันที่ 6 — 7 พฤศจิกายน 2552 และเห็นพ้องว่าควรให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในกรอบลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่นอย่างสม่ำเสมอ และควรให้มีการประชุมในระดับข้าราชการอาวุโสเป็นประจำทุกปี

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ