ความเกี่ยวโยงระหว่างบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา กับร่างข้อตกลงชั่วคราวว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร

ข่าวต่างประเทศ Tuesday October 6, 2009 13:51 —กระทรวงการต่างประเทศ

ตามที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับการเสนอเรื่อง บันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งมีร่างข้อตกลงชั่วคราวว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่ปราสาทพระวิหารแนบอยู่ กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภูมิหลังและความเกี่ยวโยงระหว่างบันทึกการประชุมฯ กับและร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ ดังนี้

1. หลังจากที่กองกำลังทหารของไทยและกัมพูชาวางกำลังในบริเวณใกล้ปราสาทพระวิหารเป็นจำนวนมาก เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ทั้งสองฝ่ายปรารถนาที่จะแก้ไขปัญหาความตึงเครียดบริเวณชายแดนโดยสันติวิธี จึงได้มีการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 ณ เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2551 ณ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้ข้อสรุปในหลักการว่าจะแก้ไขปัญหาโดยการจัดทำข้อตกลงชั่วคราวฯ เพื่อเป็นมาตรการลดความตึงเครียดในพื้นที่และป้องกันเหตุปะทะด้วยกำลังทหาร ระหว่างรอการเจรจาเกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ที่ตั้งขึ้นโดยบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543

2. เมื่อรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบต่อ “กรอบการเจรจาข้อตกลงชั่วคราวเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร” ด้วยคะแนนเสียง 409 ต่อ 7 เสียง (จากผู้เข้าร่วมประชุม 418 คน) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและกัมพูชาได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาJBC) เป็นกลไกเจรจาเพื่อยกร่างและหารือในรายละเอียดของร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ ก่อนที่จะเสนอร่างฯ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายพิจารณาร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ อีกครั้ง โดยได้มีการจัดประชุม JBC สมัยวิสามัญ พร้อมกับการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2551 ณ เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันใน รายละเอียดได้จึงไม่มีการลงนามบันทึกการประชุม JBC สมัยวิสามัญดังกล่าว

3. เมื่อวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2552 ได้มีการประชุม JBC ครั้งที่ 4 ขึ้น ณ กรุงเทพฯ โดย JBC ได้หารือในเรื่องการดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ซึ่งเป็นงานประจำของ JBC และได้หารือเพิ่มเติมในเรื่องร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายได้มอบหมายไว้ และปรากฏว่ามีประเด็นที่ยังตกลงไม่ได้อีกหลายประเด็น จึงไม่ได้มีการลงนามบันทึกการประชุม JBC ครั้งที่ 4 ดังกล่าว

4. เมื่อวันที่ 6-7 เมษายน 2552 ได้มีการประชุม JBC สมัยวิสามัญ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ถึงขั้นตอนการดำเนินงานขั้นต่อไปของ JBC ในงานการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน จึงได้มีการลงนามบันทึกการประชุมของ JBC ทั้งสามฉบับ อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ในส่วนของร่างข้อตกลงชั่วคราวเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร ซึ่งจะยังต้องเจรจากันต่อไป ก่อนที่จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายพิจารณา

5. ดังนั้น การที่รัฐบาลได้เสนอบันทึกการประชุมของ JBC ทั้ง 3 ครั้งเพื่อขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาตามมาตรา 190 วรรค 2 จึงไม่ใช่การเสนอร่างข้อตกลงชั่วคราวเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร เข้าสู่รัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบแต่อย่างใด ร่างข้อตกลงชั่วคราวเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณปราสาทพระวิหารเป็นเพียงเอกสารแนบผลการประชุม JBC ทั้ง 3 ครั้ง ที่แสดงถึงพัฒนาการของการเจรจาของร่างข้อตกลงเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร ตามมาตรา 190 วรรค 3 เท่านั้น ทั้งนี้ จะเห็นได้จากการใช้คำว่า“ร่าง” ข้อตกลงชั่วคราวฯ ซึ่งยังไม่มีการลงนาม และมีการเปลี่ยนแปลงจากการประชุมแต่ละครั้ง ยังไม่เป็นที่ยุติ

6. ส่วนบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ทั้งสามฉบับ ที่เกี่ยวเฉพาะกับงานการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนของคณะกรรมาธิการ ที่ได้มีการลงนามแล้ว เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 แต่ยังไม่มีผลใช้บังคับ เนื่องจากจะต้องได้รับการยืนยันผ่านช่องทางการทูตว่าแต่ละฝ่ายได้ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายภายในเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้บันทึกการประชุมมีผลบังคับใช้ ดังนั้นเมื่อรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบกระทรวงการต่างประเทศก็จะแจ้งฝ่ายกัมพูชา และเมื่อฝ่ายกัมพูชายืนยันต่อฝ่ายไทยผ่านช่องทางการทูตว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายภายในของฝ่ายกัมพูชาเพื่อให้บันทึกการประชุมมีผลแล้ว บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ทั้งสามฉบับ จึงจะมีผลใช้บังคับ และงานต่างๆ ที่ที่ประชุมตกลงกันก็จะได้เริ่มขึ้น อาทิเช่น งานสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตามที่บันทึกการประชุมระบุ ให้เจ้าหน้าที่เทคนิคของทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับคำแนะนำสำหรับการสำรวจร่วมในพื้นที่ตอนที่ 6 (ที่รวมถึงบริเวณปราสาทพระวิหาร) การประชุมสมัยวิสามัญครั้งที่ 1 ของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา เพื่อหารือประเด็นกฎหมายเกี่ยวกับประเด็นของพื้นที่ตอนที่ 6 การตั้งชุดสำรวจร่วมเพิ่มเติมเพื่อปฏิบัติงานในพื้นที่ตอนที่ 5 จากหลักเขตที่ 1 ไปทางทิศตะวันตกถึงหลักเขตที่ 23 และการหารือเกี่ยวกับการจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศตามขั้นตอนที่ 2 ของแผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ (TOR) ซึ่งกำหนดให้จัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศที่มาตราส่วน 1:25,000 ตลอดแนวเขตแดน เป็นต้น

7. การขอความเห็นชอบรัฐสภาต่อบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ทั้งสามฉบับดังกล่าว ไม่ทำให้ร่างข้อตกลงชั่วคราวเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณปราสาทพระวิหารมีผลใช้บังคับ ทั้งฉบับหรือแต่เพียงบางส่วนแต่อย่างใด ทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจาร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ กันอีก เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องการเรียกชื่อปราสาทพระวิหาร ตราบใดที่ยังเป็นร่าง ทั้งสองฝ่ายสามารถเสนอแก้ไขอย่างใดก็ได้ต่อเมื่อเจรจาจนเป็นที่ยุติตามที่ทั้งสองฝ่ายประสงค์แล้ว จึงจะมีการลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย โดยการลงนามเองก็ยังไม่ทำให้ความตกลงที่ลงนามมีผลบังคับใช้โดยการลงนาม เนื่องจากในข้อตกลงชั่วคราวฯ นี้จะระบุเงื่อนไขว่า ข้อตกลงชั่วคราวฯ นี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่มีการแลกเปลี่ยนหนังสือแจ้งภาคีแต่ละฝ่ายว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายภายในของตนเสร็จสิ้นแล้ว กล่าวคือ สำหรับฝ่ายไทยจะต้องนำข้อตกลงชั่วคราวที่ลงนามแล้วโดยรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่าย มาเสนอขอความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนจะแจ้งฝ่ายกัมพูชาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ อนึ่ง ร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ นี้จัดทำเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนคำแปลภาษาไทยที่จัดทำขึ้นเป็นเพียงคำแปลที่จัดทำขึ้นชั่วคราวเพื่อให้เกิดความเข้าใจในหมู่สาธารณชนเท่านั้น

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ