รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศตอบคำถามเกี่ยวกับกรอบการเจรจาไทย-กัมพูชา

ข่าวต่างประเทศ Monday October 12, 2009 14:00 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2552 นายธานี ทองภักดี รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีที่มีการเรียกร้องโดยบางฝ่ายให้มีการยกเลิกมติที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 ที่ได้เห็นชอบกรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา โดยระบุว่ากรอบการเจรจาดังกล่าวอาจเป็นผลให้ไทยต้องเสียดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตรใกล้ปราสาทพระ-วิหาร สาระสำคัญของการตอบคำถามมีดังนี้

1. เรื่อง “MOU 2543” และสถานะของแผนที่มาตราส่วน 1:200,000

จุดประสงค์หลักของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา คือ ทำให้เขตแดนมีความชัดเจนตามพื้นฐานทางกฎหมายที่ได้มีการตกลงระหว่างกันไว้ เช่นเดียวกับที่ไทยได้ดำเนินการกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ได้แก่ ลาว พม่า และมาเลเซีย ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งทั้งสองประเทศจะกำหนดว่าต้องใช้ความตกลงใดบ้าง

ในกรณีเขตแดนไทย-กัมพูชานั้น บันทึกความเข้าใจฯ ได้วางพื้นฐานสำหรับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยกำหนดให้ใช้อนุสัญญา ค.ศ. 1904 อนุสัญญา ค.ศ. 1907 และแผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานของการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนซึ่งจัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาดังกล่าว ตลอดจนเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้อนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับข้างต้น

การดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย-กัมพูชาจะต้องใช้เอกสารทั้งหมดในการพิจารณา และหากเอกสารต่างๆ มีความขัดแย้งกัน ทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจาหารือประเด็นทางกฎหมายร่วมกัน โดยมีแผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ (TOR) กำหนดกระบวนการดำเนินการหลายขั้นตอน รวมถึงการจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ (Orthophoto Map) ด้วย

ดังนั้น การที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า การดำเนินการของฝ่ายไทยส่งผลให้ไทยเสียเปรียบในการเจรจา และเป็นการยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งมีแนวโน้มทำให้เสียดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตร จึงเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

นอกจากนี้ การดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในบริเวณเขาพระวิหาร ยังได้ดำเนินการไปตามกรอบที่ได้รับอนุมัติจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 และได้มีการเสนอบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ทั้ง 3 ฉบับให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ปัญหาเขตแดนต้องแก้ไขโดยการเจรจา มิใช่การใช้กำลัง โดยอยู่บนพื้นฐานของข้อตกลงและกฎหมายระหว่างประเทศ

2. ขอบเขตอำนาจของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC)

คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้ง JBC เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2536 และได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของ JBC ดังนี้

1) พิจารณาและเจรจาปัญหาเส้นเขตแดนทางบกระหว่างไทยกับกัมพูชา

2) ดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกตลอดแนวระหว่างไทยกับกัมพูชา

3) จัดตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน เพื่อช่วยในการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น

สิ่งที่ JBC กำลังดำเนินการอยู่คือ การเจรจา สำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนตลอดแนวระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ทุกประการ

การที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า “การกำหนดพื้นที่ให้อยู่ในสภาพพร้อมสำหรับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนภายใต้แผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ของเจบีซี” เป็นการกระทำเกินหน้าที่ของ JBC นั้น ขอเรียนว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่ระบุอยู่ในข้อ 4 ของร่างข้อตกลงว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ซึ่งยังเป็นร่างที่ยังไม่มีข้อยุติ นอกจากนี้ การเจรจาในเรื่องดังกล่าวเป็นการเจรจาในระดับรัฐมนตรีว่าการฯ ของทั้งสองประเทศและได้มอบให้คณะกรรมาธิการที่เป็นสมาชิกของ JBC ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้พิจารณาร่วมกัน

3. การเชื่อมโยงเรื่องเขตแดนทางบกกับผลประโยชน์เรื่องเขตทางทะเล

กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนย้ำว่าไม่มีการเชื่อมโยงการเจรจาทางบกกับการเจรจาเรื่องเขตทางทะเล เรื่องทั้งสองเป็นเรื่องแยกออกจากกัน มีกลไกเจรจาแตกต่างกัน และมีพื้นฐานทางกฎหมายต่างกันโดยสิ้นเชิง และในการเจรจาเขตทางทะเล ก็ยังไม่มีการเริ่มกระบวนการเจรจาเนื่องจากยังไม่ได้ขอกรอบจากรัฐสภาแต่อย่างใด

พร้อมกันนี้ เพื่อให้สาธารณชนทั่วไปมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย จึงมีกำหนดจะจัดงานเสวนาเรื่อง “รู้ลึกข้อเท็จจริงเขตแดนทางบกและทางทะเลไทย-กัมพูชา” ในวันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม 2552 เวลา 10.00-12.00 น. ณ ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ โดยจะมีวิทยากรเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านเขตแดน 4 ท่าน ได้แก่ นายวศิน ธีรเวชญาณ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศด้านกฎหมายและเขตแดนและประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) พลเรือเอกถนอม เจริญลาภ ที่ปรึกษารัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญด้านเขตแดนทางทะเล พันเอก (พิเศษ) สนอง มิ่งสมร ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศด้านเขตแดน และนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ทั้งนี้ การเสวนาดังกล่าวจะเปิดให้สื่อมวลชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังและถามคำถาม เพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจกับประเด็นดังกล่าวต่อไป

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ