เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2552 นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการระบุถึงแผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1904 และ ค.ศ. 1907 หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “แผนที่มาตราส่วน 1:200,000” ไว้ในกรอบการเจรจา ที่ได้มีการเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 และได้รับความเห็นชอบแล้ว นั้น
เลขานุการรัฐมนตรีฯ กล่าวว่า รัฐบาลได้ยืนยันมาโดยตลอดว่าฝ่ายไทยยึดอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1904 เป็นหลักในการเจรจาปักปันเขตแดน ซึ่งอนุสัญญาฉบับดังกล่าวเขียนไว้ชัดเจนว่าให้ใช้แนวสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา และแม้แผนที่ฉบับดังกล่าวจะเป็นผลมาจากการทำอนุสัญญาฉบับดังกล่าว แต่ฝ่ายไทยก็ยืนยันมาโดยตลอดว่า ไทยไม่ยอมรับแผนที่ฉบับดังกล่าว และแม้เมื่อกัมพูชาจะยกแผนที่ดังกล่าวขึ้นใช้สู้คดีเมื่อปี 2505 ไทยก็ยืนยันที่จะไม่ยอมรับแผนที่ดังกล่าว แม้จะยอมรับคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศก็ตาม
เลขานุการรัฐมนตรีฯ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ตามที่มีการวิจารณ์ว่า ในเมื่อแผนที่ดังกล่าวเป็นเหตุให้ไทยแพ้คดีในศาลโลกเมื่อปี 2505 เหตุใดจึงมีการระบุแผนที่ฉบับนี้ในกรอบการเจรจาฯ นั้น ในการเจรจาระหว่างประเทศ การหยิบยกเอกสารทุกฉบับระหว่างไทยกับกัมพูชามาพิจารณาเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่มิได้แปลว่าไทย “ยอมรับ” เอกสารเหล่านั้นทั้งหมด ซึ่งเอกสารเหล่านี้ประกอบด้วยอนุสัญญา แผนที่ และข้อระเบียบต่างๆ แต่ฝ่ายไทยก็ยังยึดหลักการของอนุสัญญาฯ 1904 ที่ระบุให้ใช้แนวสันปันน้ำเป็นหลักในการกำหนดเส้นเขตแดน
ในการเจรจาปักปันเขตแดน หากหยิบยกเอกสารทุกอย่างในอดีตมาพิจารณาแล้วเห็นว่าเอกสารบางฉบับไม่สอดคล้องกับตัวบทของอนุสัญญา ทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจาหารือประเด็นทางกฎหมายร่วมกัน โดยไทยสามารถยืนยันได้ว่า เอกสารดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทั้งนี้ รัฐบาลย่อมไม่ดำเนินการไปโดยสุ่มเสี่ยงต่อการเสียดินแดนอย่างแน่นอน
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--