ผลงานด้านกงสุลและการบริการประชาชนของกระทรวงการต่างประเทศ

ข่าวต่างประเทศ Tuesday October 20, 2009 13:36 —กระทรวงการต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศขอแจ้งผลการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองดูแลคนไทย การให้บริการด้านกงสุลแก่คนไทยทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนไทยในต่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบดูแลภารกิจด้านการต่างประเทศ ที่ได้ถือปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริม รักษาและคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของประเทศและคนไทยในต่างประเทศ ดังนี้

1. การบริการประชาชน

1.1 การบริการหนังสือเดินทาง

ในปี 2552 กระทรวงการต่างประเทศได้เปิดสำนักงานหนังสือเดินทางในจังหวัดสำคัญ ๆ หลายแห่งเพื่อมุ่งบริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ โดยได้เปิดสำนักงานหนังสือเดินทางที่จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2552 และที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2552 ทำให้มีสำนักงานหนังสือเดินทางในต่างจังหวัด รวมทั้งสิ้น 10 แห่ง ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังได้จัดบริการหนังสือเดินทางเคลื่อนที่ไปยังจังหวัดที่ไม่มีสำนักงานหนังสือเดินทาง ประมาณปีละ 30 ครั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ เดือนมกราคม 2552 ได้จัดหนังสือเดินทางเคลื่อนที่แล้ว 18 ครั้ง สามารถออกหนังสือเดินทางแก่ประชาชนที่มาขอรับบริการเป็นจำนวน 35,058 เล่ม นอกจากนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศยังได้ส่งหน่วยหนังสือเดินทางเคลื่อนที่ ไปให้บริการประชาชนที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสม่ำเสมอทุกปี เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในพิ้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งให้ความร่วมมือแก่กรมการศาสนา ในการออกหนังสือเดินทางฮัจย์ โดยกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมต่ำกว่าบุคคลทั่วไปจาก 1,000 บาทเหลือเพียง 400 บาท สำหรับประชาชนไทยเชื้อสายมุสลิม ที่มีกำหนดเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์อีกด้วย

1.2 การขยายการบริการด้านกงสุลแก่ประชาชน

กระทรวงการต่างประเทศมีแผนที่จะยกระดับสำนักงานหนังสือเดินทางฯ เพื่อให้บริการในด้านกงสุลอื่น ๆ ให้ครบวงจรมากขึ้น อาทิ งานรับรองเอกสาร งานช่วยเหลือคุ้มครองคนไทย การช่วยเป็นที่ปรึกษาด้านพิธีการและช่วยประสานงานด้านต่างประเทศให้กับจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว กัมพูชา พม่าและมาเลเซีย การเป็นองค์ความรู้ด้านต่างประเทศให้กับชุมชน

1.3 การให้ความรู้และเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางไปต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศได้ริเริ่มจัดเจ้าหน้าที่ไปพบปะให้ความรู้แก่ประชาชนในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์และจำเป็นสำหรับการเตรียมตัวที่ถูกต้องก่อนเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ โดยอาศัยข้อมูลและประสบการณ์จริงของเจ้าหน้าที่ที่เคยปฏิบัติงานด้านกงสุลในต่างประเทศเป็นข้อมูลตัวอย่าง นอกจากการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อประชาสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ ซึ่งดำเนินการอยู่เป็นประจำ นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 เป็นต้นมา ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้ฯ ในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา นครพนม บุรีรัมย์ ขอนแก่น อุบลราชธานี หนองคาย อุดรธานี และชลบุรี โดยร่วมมือกับแรงงานจังหวัด พัฒนาสังคมจังหวัด องค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ โดยจะดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ โดยที่ปัญหาแรงงานในต่างประเทศส่วนหนึ่งมาจากการขาดการเตรียมตัวที่ดี ในปี 2552 นี้ กระทรวงการต่างประเทศจึงได้สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นดำเนินโครงการนำร่องในการจัดอบรมและพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยแบบครบวงจร โดยการให้ความรู้ทั้งด้านกฎระเบียบ สภาพชีวิตความเป็นอยู่และการสอนภาษาของประเทศปลายทางก่อนออกเดินทาง โดยเริ่มโครงการแรกกับแรงงานที่จะเดินทางไปทำงานที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี และจะนำผลการดำเนินโครงการส่งให้กระทรวงแรงงาน พิจารณาใช้ประโยชน์ต่อไป

2. การคุ้มครองดูแลคนไทยในต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศปีละ 2,000-3,000 ราย กลุ่มเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ แรงงาน ลูกเรือประมง และหญิงไทยที่ถูกหลอกไปค้าประเวณีในต่างประเทศ โดยมีการดำเนินการสำคัญตั้งแต่ต้นปี 2552 ดังนี้

2.1 การจัดตั้งคณะทำงานด้านประมง

ปัญหาเรือประมงไทยถูกจับกุมในน่านน้ำต่างประเทศมีแนวโน้มซับซ้อนขึ้น และเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจจากฝ่ายนิติบัญญัติเป็นพิเศษ กระทรวงการต่างประเทศจึงได้ตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านประมง

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ประกอบด้วยผู้แทนจากกรมประมง กองทัพเรือ กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมการขนส่ง-ทางน้ำและพาณิชยนาวี และหน่วยงานในกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อปฏิบัติงานร่วมกันในการหาข้อมูลข้อเท็จจริงเบื้องต้น เพื่อบูรณาการการให้ความช่วยเหลือเรือและลูกเรือประมงไทยอย่างมีประสิทธิภาพ คณะทำงานฯ ได้จัดประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 24 เมษายน วันที่ 3 กรกฎาคม และวันที่ 28 กันยายน 2552 ตามลำดับ ขณะนี้อยู่ใน ระหว่างการพิจารณาร่างบทบาทหน้าที่ (TOR) และแนวปฏิบัติ (SOP) ของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ที่มีชาวประมงไทยถูกจับด้วย

2.2 การจัดทีมสหวิชาชีพเพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ในต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการจัดตั้งทีมสหวิชาชีพเพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ โดยจะจัดให้มีห้องปฏิบัติงานที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ในลักษณะ one-stop service นับตั้งแต่คนไทยตกทุกข์ได้รับความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตและสถาน- กงสุลใหญ่ในการส่งกลับประเทศไทย การรับตัวที่สนามบิน การช่วยเหลือส่งกลับภูมิลำเนา การช่วยฟื้นฟูอาชีพ ฯลฯ โดยการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยได้จัดสรรพื้นที่ให้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา และกระทรวงพัฒนาสังคมฯ กำลังเตรียมแบบห้อง คาดว่าจะเปิดใช้บริการได้ในเดือนพฤศจิกายน 2552 นี้

3. การเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนไทยในต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนไทย ในต่างประเทศ โดยเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ใน 3 ลักษณะ ได้แก่ การส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวของชุมชนไทย

การพัฒนาเพิ่มพูนทักษะและความรู้ และการส่งเสริมให้ชุมชนไทยอยู่ในสังคมท้องถิ่นอย่างมีศักดิ์ศรีและมีตัวตน

ในปี 2552 นี้ กระทรวงการต่างประเทศได้สนับสนุนงบประมาณให้กับสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ในต่างประเทศดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนไทย รวมทั้งได้ร่วมกับกรมสุขภาพจิตจัดคณะจิตแพทย์ไปอบรมให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพจิตและเสริมสร้างเครือข่ายชุมชนแก่อาสาสมัครและแกนนำคนไทยในประเทศที่มีชุมชนไทยหนาแน่น อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐ สวิตเซอร์แลนด์ อิสราเอล สาธารณรัฐเกาหลี ไต้หวัน นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนงบประมาณให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำหรับการดำเนินโครงการต่าง ๆ สำหรับคนไทยในต่างประเทศอีกด้วย

4. การสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย

กระทรวงการต่างประเทศได้สนองตอบต่อนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย โดยการยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยวเป็นการชั่วคราว 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2552 และต่อมาได้ขยายเป็น 1 ปี จนถึงวันที่ 4 มีนาคม 2553 จากการประเมินการยกเว้นค่าธรรมเนียมในช่วง 3 เดือนแรก พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติไปขอรับการตรวจลงตราที่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 47 นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังได้กำชับให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่เร่งประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยให้มากยิ่งขึ้นด้วย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ