นางสาววิมล คิดชอบ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับนายวิทวัส ศรีวิหค อธิบดีกรมอาเซียน เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2552 ที่ศูนย์ข่าวการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ณ โรงแรมเชอราตัน ว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้นประมาณ 3,000 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศต่างๆ 16 ประเทศ 1,500 คน และผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศอีกประมาณ 1,500 คน ทั้งนี้ ไทยมีความพร้อมในด้านต่างๆ ที่จะต้อนรับผู้แทน ทั้งในด้านของที่พัก การอำนวยความสะดวกต่างๆ ระบบจราจร ตลอดจนและศูนย์ข่าวซึ่งได้เปิดดำเนินการแล้ว พร้อมนี้ อธิบดีกรมสารนิเทศได้กล่าวขอบคุณประชาชนในพื้นที่ที่ได้ให้ความร่วมมือในการต้อนรับผู้แทนที่มาร่วมประชุมและเชิญชวนให้ชาวไทยร่วมกันเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ด้วยความภาคภูมิใจด้วย
สำหรับสาระของการประชุม อธิบดีกรมอาเซียนกล่าวว่า ในวันที่ 21 และ 22 ตุลาคม 2552 จะมีการประชุมในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรีทั้งที่รับผิดชอบงานภายในประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมในระดับผู้นำทั้งในกรอบของอาเซียน อาเซียน+1 อาเซียน+3 และอาเซียน +6 หรือการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ที่จะเริ่มต้นในวันที่ 23 ตุลาคม จนถึง 25 ตุลาคม โดยมีหัวข้อหลัก (theme) คือ เชื่อมโยงประชาคม สร้างเสริมประชาชน (Enhancing connectivity, empowering peoples)
ในส่วนของไทย คาดว่านายกรัฐมนตรีจะเน้นย้ำประเด็นต่างๆ ตามวิสัยทัศน์ที่เคยกล่าวไว้ คือการเป็นประชาคมที่เน้นการปฏิบัติ (Community of Action) ประชาคมที่เน้นความเชื่อมโยงระหว่างกัน (Community of Connectivity) และประชาคมที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง (Community of Peoples) โดยในส่วนของความเชื่อมโยง ไทยให้ความสำคัญทั้งกับความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การค้า การไปมาหาสู่ของประชาชน เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ความรู้ การศึกษา และวัฒนธรรม นอกจากนี้ ก็จะยกประเด็นที่ประเทศในภูมิภาคต้องรับมือ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และวิกฤตทางการเงิน ซึ่งเหล่านี้จะเป็นประเด็นที่จะหารือกันในทุกๆ กรอบ
อธิบดีกรมอาเซียนกล่าวเสริมว่า หลังจากการประชุมสุดยอดครั้งนี้แล้ว คงจะมีหลายอย่างที่จะมีผลออกมาเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 1) การจัดตั้งกองทุนสำรองพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (CMIM) จำนวน 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่น่าจะออกเป็นรูปเป็นร่างได้ไม่เกินต้นปีหน้า ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนความพยายามของประเทศในภูมิภาคในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและเสริมสภาพคล่องทางการเงิน 2) การพัฒนาระบบสำรองข้าวฉุกเฉินเอเชียตะวันออก ในกรอบอาเซียน+3 ให้มีสำนักงานถาวรในประเทศไทย และสามารถปฏิบัติงานได้ทันที นอกจากนี้ ก็จะมีการติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนเพื่อความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างอาเซียน-จีน มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และโครงการสินเชื่อทางพาณิชย์และเงินกู้ยืมสำหรับรัฐบาลอาเซียนมูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน ความร่วมมือกับญี่ปุ่นในด้านการรับมือกับภาวะโลกร้อนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและด้านการลดช่องว่างด้านการพัฒนาภายในประเทศสมาชิกอาเซียน ความร่วมมือกับเกาหลีใต้ในด้านการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Low-Carbon Green Growth) ซึ่งเกาหลีใต้ได้เสนอที่จะให้เงินสนับสนุนประเทศอาเซียน จำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากโครงการหุ้นส่วนสิ่งแวดล้อมเอเชียตะวันออก (East Asia Climate Partnership) เพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวเข้ากับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง และความร่วมมือกับอินเดียเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าให้ได้ตามเป้าหมาย 7 หมื่นพันล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 2 ปี ตลอดจนการเร่งรัดการดำเนินการตามความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้หรืออินเดีย เป็นต้น
อีกพัฒนาการหนึ่งที่สำคัญคือ ผู้นำอาเซียนจะประกาศจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR) ซึ่งไทยได้เคยประกาศไว้ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ว่า ในฐานะประธานไทยจะทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อให้มีการจัดตั้งให้สำเร็จก่อนที่จะส่งมอบตำแหน่งประธานให้แก่เวียดนามต่อไป ทั้งนี้ ผู้นำจะมีปฏิญญาจัดตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าว ซึ่งก็จะพบกันเป็นครั้งแรกในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ด้วย
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--