ภาพรวมของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15

ข่าวต่างประเทศ Thursday October 22, 2009 13:38 —กระทรวงการต่างประเทศ

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ณ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 ตุลาคม 2552 ที่โรงแรมดุสิตธานี จังหวัดเพชรบุรี โดยมีพิธีเปิดในเวลา 9.45 น. ทั้งนี้ การหารือระหว่างผู้นำประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศจะเริ่มด้วยการหารือระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำในวันที่ 23 ตุลาคม 2552 ต่อด้วยการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) ในช่วงเช้าของวันที่ 24 ตุลาคม ก่อนที่การประชุมร่วมกับผู้นำประเทศคู่เจรจาต่างๆ จะเริ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศจะได้หารือเกี่ยวกับพัฒนาการในช่วงที่ผ่านมาและทิศทางการดำเนินงานในอนาคต รวมทั้งการเตรียมท่าทีสำหรับการหารือกับประเทศคู่เจรจาในประเด็นที่มีความสำคัญต่ออาเซียน

ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้ได้กำหนดหัวข้อหลัก (theme) สำหรับการประชุม คือ “Enhancing Connectivity, Empowering Peoples” หรือ “เชื่อมโยงประชาคม สร้างเสริมประชาชน” ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาค ตลอดจนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม อาทิ การส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรม และความร่วมมือในด้านอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอาเซียน โดยคาดว่าจะมีการหารือในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1. การเชื่อมโยงและความร่วมมือด้านการศึกษา จะหารือแนวทางการส่งเสริมการเชื่อมโยงทั้งในด้านกายภาพ อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายคมนาคม และการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน โดยเฉพาะการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาและความร่วมมือด้านวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนบนพื้นฐานของอารยธรรมที่คล้ายคลึงกัน และส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน

2. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะหารือต่อยอดจากการประชุม Climate Change Summit ที่สหประชาชาติเมื่อปลายเดือนกันยายน 2552 และเตรียมพร้อมสำหรับการประชุมรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC (United Nations Framework Convention on Climate Change) ที่จะมีขึ้นที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กในช่วงเดือนธันวาคม 2552 โดยเฉพาะการกำหนดท่าทีร่วมกันของอาเซียนซึ่งเป็นเสียงสำคัญของประเทศกำลังพัฒนา เพื่อรักษาประโยชน์ของอาเซียนและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในประเด็นสำคัญๆ อาทิ ภาระทางการเงินจากการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Financing) และความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

3. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงิน จะหารือเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงิน โดยจะผลักดันความร่วมมือในการจัดตั้งกองทุนสำรองพหุภาคีภายใต้ข้อริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative Multilateralisation : CMIM) และหารือเกี่ยวกับข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งเขตการค้าเสรีในเอเชียตะวันออก (EAFTA) ซึ่งจะได้มีการหารือกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในกรอบอาเซียน+3

4. การจัดการภัยพิบัติและโรคติดต่อ จะผลักดันความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติ โดยเฉพาะการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรเพื่อให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งความร่วมมือเพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่อต่างๆ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีน

5. ความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร จะหารือเกี่ยวกับแนวทางในการรับมือกับปัญหาการขาดแคลนพลังงานและอาหาร ตลอดจนความเชื่อมโยงระหว่างการใช้พื้นที่เกษตรในการผลิตพลังงานชีวภาพ โดยจะผลักดันความร่วมมือในการจัดตั้งกลไกสำรองข้าวฉุกเฉิน การศึกษาวิจัยร่วมกันและการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี รวมทั้งการลงทุนในภาคการเกษตรและพลังงานทดแทน โดยเฉพาะในด้านพลังงานชีวภาพ

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ